แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นการรวมหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หลายครั้งโดยผู้กู้และผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน เข้าลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร
การขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 117 จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่ได้นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ศาลฎีกาไม่อนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2541 จำเลยยอมตกลงทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้กับโจทก์ โดยรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 78,000 บาท กำหนดชำระยอดเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มกราคม 2542 และยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระเงิน 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้วันฟ้อง โจทก์ขอคิดเพียง 35,100 บาท รวมเป็นเงิน 113,100 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 113,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 78,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ ลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 113,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 78,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อไม่ปิดอากรแสตมป์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงินเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ส่งมอบให้จำเลยในวันทำสัญญา จึงไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งแต่ไม่เคยทำสัญญาจนกระทั่งปี 2541 จำเลยสรุปยอดหนี้ที่ค้างชำระเป็นเงิน 78,000 บาท ในวันที่ 7 ธันวาคม 2541 โจทก์จึงนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินมากรอกข้อความด้วยลายมือชื่อตนเอง โดยระบุว่าจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ในวันที่ 5 มกราคม 2542 จำเลยอ่านข้อความในสัญญาแล้วไม่คัดค้านความถูกต้องและได้ลงลายมือชื่อไว้ซึ่งข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ระบุไว้ชัดว่า ข้อ 1. ข้าพเจ้า นางสาวอรนุช รัตนบำรุง ได้กู้เงินของนางสาวสุนิตา ยิ่งเมือง เป็นจำนวนเงิน 78,000 บาท ข้าพเจ้าได้รับเงินไปครบถ้วนเสร็จแล้วตั้งแต่วันทำสัญญานี้….. (3) ในจำนวนเงินซึ่งข้าพเจ้าได้กู้ไปนี้ ข้าพเจ้าจะนำมาใช้ให้ท่านเสร็จภายในวันที่ 5 มกราคม 2542 นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป (4) ข้าพเจ้ายอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แก่ท่านทุกเดือนไป จนกว่าข้าพเจ้าจะนำเงินต้นส่งให้แก่ท่านจนครบตามจำนวนที่ได้กู้ไป… หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงมาจากการที่จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ ถือว่าผู้ให้กู้ส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว เมื่อทั้งสองฝ่ายคือผู้กู้และผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อไว้ เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญากู้ยืมเงิน เข้าลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องเปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ที่โจทก์ฎีกาขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 117 บัญญัติว่า “ตราสาร หรือหลักฐานตามความในมาตรา 116 ที่มีผู้เสียอากร หรือเสียอากรและเงินเพิ่มอากร ถ้ามี ตามความในมาตรา 113 หรือ 114 แล้ว ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ส่วนเงินเพิ่มอากรที่เรียกเก็บให้ถือเป็นอากร” เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่ได้นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นนี้ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ