คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นคดีแพ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 บังคับให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งสำเนาอุทธรณ์ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน แต่เมื่อถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ชอบ เพราะแม้ไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2545 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนางสาวอุษา บัวบาน นางสุวรรณา บัวบาน และนายสังวาล บัวบาน (ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4) กล่าวหาว่ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและยึดทรัพย์สิน 13 รายการ มูลค่า 1,117,147 บาท คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว เชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินทั้งหมดได้มาจากการประกอบอาชีพที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 13 รายการ
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์รายการที่ 1 ถึงที่ 5 รายการที่ 7, ที่ 10 ถึงที่ 12 เป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และเป็นสินสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 4 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาโดยการประกอบอาชีพสุจริต ขอให้ปล่อยทรัพย์สินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.3 รวม 13 รายการ มูลค่า 1,117,147 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ว่า รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 สำเนาให้ผู้ร้องแก้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำส่งสำเนาภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง การส่งหากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2547 เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นรายงานว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาเสียค่าธรรมเนียมการส่งหมายให้แก่ผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ว่า รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 สำเนาให้ผู้ร้องแก้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำส่งสำเนาภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง และที่ริมซ้ายหน้าแรกของอุทธรณ์ศาลชั้นต้นประทับตราข้อความว่า “ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุกๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยทนายความของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อรับทราบข้อความดังกล่าวไว้แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะอ้างเหตุเข้าใจผิดว่าคดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งผู้ยื่นอุทธรณ์ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่พนักงานอัยการ และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าว หมวด 6 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา 59 บัญญัติว่า
“การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง”
หมายความว่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับไว้ว่าให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำส่งสำเนาอุทธรณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 วรรคสอง และเมื่อทนายความของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อรับทราบเงื่อนไขว่าจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุกๆ 7 วัน ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ติดตามเพื่อทราบคำสั่งแรกอย่างช้าที่สุดในวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ถ้าไม่มาติดตามก็ถือว่าทราบคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งแต่วันดังกล่าวและมีหน้าที่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ว่า คู่ความที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายให้แก่ผู้ร้อง อันมีความหมายว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคดีเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 132 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะอ้างเหตุเข้าใจผิดว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งผู้ยื่นอุทธรณ์ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่พนักงานอัยการและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาหาได้ไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติว่าให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.3 รวม 13 รายการ มูลค่า 1,117,147 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share