แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง และ 317 วรรคสาม เป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสามนั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำต่อบิดาของผู้เสียหายย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองพรากผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาดังกล่าว ส่วนความผิดฐานพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 284, 317, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 371 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี และฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี และฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายเป็นจำนวนหนึ่งแล้ว นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 แล้ว คงจำคุก 25 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 29 ปี 5 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 29 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดและไม่มีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จำเลยทั้งสองได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว สิทธินำคดีอาญาในความผิดดังกล่าวมาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) โดยนางสาวสุภาภรณ์ ผูกเหมาะ ผู้เสียหายซึ่งขณะนั้นมีอายุ 16 ปี ได้ยื่นคำร้องเข้ามาพร้อมกับฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นที่พอใจแล้ว และขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับไว้เป็นคำแถลงของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นฟังพยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงตามฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบา และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงแต่กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดและไม่มีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิง ไม่ปรากฏเหตุที่ยกขึ้นคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่รับฟังพยานหลักฐานมานั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรเป็นฎีกาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และแม้ตามคำร้องของผู้เสียหายที่ว่าผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นที่พอใจแล้ว และขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองและพอแปลได้ว่าเป็นคำแถลงของผู้เสียหายว่าได้ตกลงยอมความในความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำต่อผู้เสียหายตามฟ้อง และไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษต่อไปแต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดมิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญาในความผิดดังกล่าวมาฟ้องระงับไป สิทธิฟ้องร้องคดีอาญาของโจทก์คงระงับไปเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง และ 317 วรรคสาม เป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำต่อบิดาของผู้เสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองพรากผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาดังกล่าว ส่วนความผิดฐานพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม และมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ออกจากสารบบความ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1