แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เช็คพิพาท เป็น เช็ค ที่ สั่ง ให้ ใช้ เงิน แก่ ผู้ถือ การ ที่ จำเลย ที่ 2 ลงลายมือชื่อ ไว้ ที่ ด้านหลัง เช็ค ย่อม เป็น การ สลักหลัง เป็น ประกัน ( อาวัล ) สำหรับ ผู้สั่งจ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 921, 989 จำเลย ที่ 2 จึง ต้อง รับผิด ต่อ โจทก์ ซึ่ง เป็น ผู้ทรง อย่างเดียว กับ ผู้สั่งจ่าย .
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาศรีสะเกษ สั่งจ่ายเงินจำนวน 70,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลังในฐานะผู้รับอาวัล (ประกัน) ต่อมาโจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมหานคร จำกัดสาขาศรีสะเกษ เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คหลายครั้งจำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยรวม 73,700 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 70,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์จะได้รับเช็คพิพาทมาอย่างไรจำเลยที่ 2 ไม่ทราบจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทจริงแต่มิได้สลักหลังในฐานะผู้รับอาวัล (ประกัน) ผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 2 ก่อนเช็คถึงกำหนด จำเลยที่ 2ได้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้และส่งมอบให้ผู้มีชื่อไปแล้วหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำเงินสดไปแลกเช็คพิพาทจากผู้มีชื่อดังกล่าวคืนไปแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,700 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในเช็คพิพาทในฐานะเป็นผู้รับอาวัลจำเลยที่ 1 เพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นประกันเงินยืมต่อมาจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังโอนให้นายดาบตำรวจปรีชา คงขุนทดแลกเงินสดจากนายดาบตำรวจปรีชาอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 2 คงต้องรับผิดต่อนายดาบตำรวจปรีชา ในฐานะผู้สลักหลังเท่านั้น เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้หนี้ตามเช็คแก่นายดาบตำรวจปรีชา และจำเลยที่ 1รับเช็คพิพาทคืนจากนายดาบตำรวจปรีชาแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2จึงสิ้นสุดลงจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ การที่จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังเช็ค ย่อมเป็นการสลักหลังเป็นประกัน(อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา921, 989 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 420/2525 ระหว่างนายชัชวาลย์ รุ้งศรีมรกฏ โจทก์ นางนงลักษณ์ หวังรัตนพงษ์ ที่ 1กับพวก จำเลย…” พิพากษายืน.