คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด” ซึ่งแก้ไขใหม่โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปโดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่ามิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัตินี้จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า การขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด
การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา แม้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ ไม่จำต้องรอให้มีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันก่อน
ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 400,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวดให้แก่โจทก์ หากผิดนัดให้โจทก์บังคับคดีได้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินที่ค้างชำระ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39859 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาในการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 265,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ก่อนขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดและแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบวันขายทอดตลาด จึงไม่ได้ไปดูแลการขาย การขายทอดตลาดมีผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียว ไม่มีการสู้ราคากัน ราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและราคาท้องตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คบคิดกันฉ้อฉลกับโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ทราบประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว และได้ตั้งตัวแทนไปดูแลการขายทอดตลาด แต่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ดูแลการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉลกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ช่วงเช้าของวันขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 ไปดูรายการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดี แต่การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 กระทำในตอนบ่าย จำเลยที่ 2 กลับเข้าไปคัดค้านการขายไม่ทัน จึงเป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 เอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำยึดไว้เป็นเงิน 290,000 บาท การขายทอดตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ไม่มีผู้เข้าสู้ราคา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 มีผู้เข้าสู้ราคา 1 ราย เสนอราคา 120,000 บาท ผู้แทนจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านราคา แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาต่ำไป จึงให้งดการขาย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเข้าสู้ราคารายเดียวในราคา 265,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำประกาศขายทอดตลาดไปปิดที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 64 ถนนท้าวสุระ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ตามที่ปรากฏในสำเนาทะเบียนบ้านก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกสรุปความว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว และเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรยังไม่เป็นที่สุดตามคำสั่งศาลชั้นต้น เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องภายหลังวันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไปเท่านั้น แต่คดีนี้ฟ้องเมื่อปี 2539 จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด” ซึ่งแก้ไขใหม่โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัตินี้จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า การขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวนั้น มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยใหม่ และเห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา ดังนั้น แม้การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ ไม่จำต้องรอให้มีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันก่อนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงหาเป็นการไม่ชอบไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบ ก็ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศ ซึ่งนับถึงวันขายทอดตลาดยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน ตามกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำร้อง คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงปัญหาดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share