คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 930/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาเพิ่มเงินอีก 20,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยจำนองกับ น. เป็นเงิน 50,000 บาท แล้วมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองทั้งหมดโดยไม่มีการชำระหนี้จำนอง ต่อมาจำเลยขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนจำนองกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 180,000 บาท แม้ได้ทำขึ้นในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายแต่เฉพาะสัญญาจำนองจำนวน 120,000 บาท สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมโดยยังมิได้มีการชำระหนี้จำนองกัน การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยแม้จะไม่มีการไถ่ถอนจำนอง ผู้รับโอนก็ต้องรับภาระหนี้จำนองมาด้วยอยู่แล้ว จึงจะถือว่าการจำนองรายนี้ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้ กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯ มาตรา 115 หาได้ไม่
ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 ยอมเพิ่มเงินจำนองให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงกระทำการโดยสุจริต แม้ต่อมาศาลจะสั่งเพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 คำสั่งศาลดังกล่าวก็ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 116 สัญญาจำนองจึงมีผลใช้บังคับได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่าง พ.ท.สนั่นผู้จำนองกับ น.ส.จำนงจิตต์ผู้รับจำนอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเฉพาะเจ้าหนี้จำนอง 120,000 บาทไม่เพิกถอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้คัคค้านที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาขอให้เพิกถอนการจำนองทั้งหมด และผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาขอให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้เพิกถอนการจำนอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2504 จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10624 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท วันที่ 2 ธันวาคม 2506จำเลยเพิ่มเงินจำนองอีก 20,000 บาท วันที่ 14 มกราคม 2512 จำเลยจำนองที่ดินแปลงนี้กับสิ่งปลูกสร้างไว้กับนางสาวประนอม กฤตประนามเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาจำเลยจะขายที่ดินแปลงนี้กับสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านที่ 1 และได้ตกลงกันในระหว่างจำเลย ผู้คัดค้านทั้งสอง และนางสาวประนอม กฤตประนาม ว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะรับซื้อที่ดินโดยรับภาระจำนองไปด้วย และผู้คัดค้านที่ 2 จะเพิ่มเงินจำนองให้ผู้คัดค้านที่ 1อีก 20,000 บาท วันที่ 7 พฤศจิกายน 2516 จึงได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองทั้งหมดโดยไม่มีการชำระหนี้จำนองกันเลย แล้วจำเลยโอนขายที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างกับผู้คัดค้านที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นเงิน 180,000 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 2 จ่ายเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน60,000 บาท และจ่ายให้นางสาวประนอม กฤตประนาม 50,000 บาทคดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาจำนองดังกล่าวจะได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย แต่เฉพาะสัญญาจำนองจำนวน 120,000 บาท เป็นสัญญาจำนองที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมซึ่งได้กระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2505 วันที่ 2 ธันวาคม 2506 และวันที่14 มกราคม 2512 โดยยังมิได้มีการชำระหนี้จำนองกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคท้าย ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้นในการที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย แม้จะไม่มีการไถ่ถอนจำนอง ผู้รับโอนก็ต้องรับภาระหนี้จำนองมาด้วยอยู่แล้ว จึงจะถือว่าการจำนองรายนี้ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 หาได้ไม่ ส่วนการที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนหนี้จำนองจากนางสาวประนอม กฤตประนาม เป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ การโอนหนี้จะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306หรือไม่นั้น คดีไม่มีประเด็นจะวินิจฉัย

ปัญหาเรื่องหนี้จำนองที่เพิ่มขึ้นน 60,000 บาทนั้น ผู้คัดค้านที่ 2รับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอก พยานหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ส่อให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ยอมเพิ่มเงินจำนองให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงกระทำโดยสุจริต แม้ต่อมาศาลจะสั่งเพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 คำสั่งศาลดังกล่าวก็ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 สัญญาจำนองจึงมีผลใช้บังคับได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอน ฎีกาผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้เพิกถอนการจำนองเสียทั้งหมด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายแทนผู้คัดค้านที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 1,000 บาท”

Share