แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการวิ่งราวทรัพย์ จำเลยกับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ก็มิได้หมายความว่าจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการวิ่งราวทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยกับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับนายไพฑูรย์ ทินประยงค์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1404/2549 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันลักทรัพย์กระเป๋าหนัง 1 ใบ ภายในมีเงินสด 4,000 บาท ของนางสาวนิตยา ชัยขันธ์ ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าว จำเลยกับพวกได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้าของผู้เสียหาย และใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมเจ้าพนักงานจับจำเลยกับพวกได้พร้อมยึดกระเป๋าหนังและเงินสด 1,900 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายดังกล่าว และรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กวธ นครปฐม 420 ที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดและเป็นของพวกของจำเลย เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 336, 336 ทวิ ให้จำเลยคืนเงิน 2,100 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 (ที่ถูก มาตรา 336 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 2,100 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับพวกใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงต้องริบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องจำเลยกับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ก็มิได้หมายความว่าจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้อง รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยกับพวกได้ใชในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน