แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้น ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่น ๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 และที่ 7 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้กล่าว โดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไว้พิจารณาต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ดังกล่าว หากศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ศาลอุทธรณ์ภาค 4ก็จะมีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ในชั้นนี้จึงไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด เมื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 5 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ว่า จำเลยที่ 5 และที่ 7 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องนำค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ไม่รับอุทธรณ์
จำเลยที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งว่า จำเลยทั้งแปดขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งแปดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 5 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไปด้วย ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ปฏิบัติก่อน เมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้น ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่น ๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 และที่ 7 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไว้พิจารณาต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ดังกล่าวหากศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็จะมีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ในชั้นนี้จึงไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด เมื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 7 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 7 ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 และคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 5 และที่ 7 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป