แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ระบุวันเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 มิถุนายน 2548 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยพาคนต่างด้าว 15 คน เข้ามาในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าจำเลยพาคนต่างด้าวแต่ละคน คนใดเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันเวลาใด คำฟ้องโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 บัญญัติมีใจความว่า เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ คดีนี้การกระทำความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแม่สอดจนถึงอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมจึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดที่กระทำต่อเนื่องกันซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2548 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ข้อ 1.1 จำเลยนำพาและช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ แก่นายจิเตยกับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าว สัญชาติพม่า มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสหภาพพม่า ให้เข้ามาในราชอาณาจักรทางตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ข้อ 1.2 ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ภายหลังจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 แล้ว จำเลยซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ แก่นายจิเตยกับพวก โดยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บฉ-7652 สุโขทัย พาบุคคลต่างด้าวดังกล่าวจากจังหวัดตากไปส่งที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้นายจิเตยกับพวกพ้นจากการจับกุม ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่านายจิเตยกับพวกเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยและยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้ติดต่อรับส่งนำพาคนต่างด้าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 ริบโทรศัพท์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร จำคุก 2 ปี ฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัย จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร จำคุก 1 ปี ฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 9 เดือน ริบโทรศัพท์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ได้ระบุวันเวลาเกิดเหตุว่าจำเลยนำพาและช่วยเหลือนายจิเตยกับพวกรวม 15 คน ให้เข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2548 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน แต่ในการสืบพยานก่อนฟ้องคดี นายจิเตยเบิกความว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2548 นายจิเตยอยู่ที่ประเทศสหภาพพม่าได้รับการติดต่อให้มาทำงานในกรุงเทพมหานคร และนายทุยคนต่างด้าวที่จำเลยพาเข้ามาในราชอาณาจักรอีกคนหนึ่งก็เบิกความว่า ประมาณวันที่ 9 หรือ 10 มิถุนายน 2548 นายทุยต้องการเดินทางมาประเทศไทยจึงติดต่อนายหน้า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับเวลากระทำผิดจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เพียงแต่บังคับว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพาคนต่างด้าวรวม 15 คน เข้ามาในราชอาณาจักร การที่โจทก์ระบุวันเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 มิถุนายน 2548 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยพาคนต่างด้าว 15 คน เข้ามาในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าจำเลยพาคนต่างด้าวแต่ละคน คนใดเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันเวลาใด คำฟ้องโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า เหตุตามฟ้องข้อ 1.1 เกิดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย จึงไม่มีอำนาจสอบสวนนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อ 1.2 ว่า หลังจากจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้วจำเลยได้ซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวดังกล่าว โดยจำเลยขับรถยนต์กระบะพาคนต่างด้าวจากจังหวัดตากไปส่งที่จังหวัดพิษณุโลก เหตุเกิดที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย เกี่ยวพันกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 บัญญัติมีใจความว่า เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ คดีนี้การกระทำความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแม่สอดจนถึงอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธร อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดที่กระทำต่อเนื่องกันซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน