คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,222,403.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามบัตรภาษีจำนวน 1,321,605.04 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 และจำเลยที่ 3 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า วันที่ 18 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ รวมเป็นเงินชดเชยจำนวน 1,321,605.04 บาท และขอโอนบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำนวนดังกล่าว และสัญญาว่ากรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงอนุมัติจ่ายเงินชดเชยค่าภาษี และออกบัตรภาษีในนามจำเลยที่ 3 รับไปตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอ จำเลยที่ 3 นำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแล้ว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 สำแดงชนิดสินค้า จำนวนสินค้า ชื่อผู้ส่งออกเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกที่นำไปยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร กรณีจึงเป็นการสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออก จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ส่งออก และไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี อีกทั้งไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือโอนบัตรภาษีดังกล่าวให้ผู้อื่น จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษีจากโจทก์ไว้ในครอบครองและไม่มีสิทธินำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษี 1,321,605.04 บาท แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันที่รับบัตรภาษีจนถึงวันฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาทโดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 1,321,605.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวน 900,798.13 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share