แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายขดม้วนโลหะรีดร้อนกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ปริมาณ 10,000 เมตริกตัน ในราคา 2,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดส่งสินค้าทางเรือในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2543 เป็นอย่างช้า ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์ขนสินค้าเข้ามาในประเทศไทยพร้อมที่จะส่งมอบ วันที่ 7 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ว่า จำเลยทั้งสองประสบปัญหาทางการเงิน ขอเลื่อนการชำระเงินรวมทั้งบอกปัดในทำนองที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการแจ้งให้โจทก์นำสินค้าไปขายให้แก่บุคคลอื่นก่อน โจทก์จึงขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นไปเพื่อบรรเทาความเสียหายได้เงินทั้งสิ้น 1,886,880 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ขาดทุน 413,120 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 30 แล้ว ไม่ได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถจัดทำเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายพิพาทกันไว้ สัญญาซื้อขายพิพาทจึงผูกพันคู่สัญญาและมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันทำสัญญา การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเพียงวิธีการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขายพิพาทมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทด้วยการทำตั๋วแลกเงินและเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพิพาท
จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายพิพาทโดยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องขายสินค้าพิพาทให้แก่ผู้อื่นในราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินที่โจทก์ควรจะได้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าว
ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ ส. ได้ความว่า พยานดังกล่าวทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีหน้าที่ติดต่อขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย พยานดังกล่าวให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นในเรื่องการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง การผิดสัญญาซื้อขายพิพาทของจำเลยทั้งสอง และความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การผิดสัญญาซื้อขายพิพาท พยานดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้เห็นหรือทราบข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้การเป็นพยานโดยตรงจึงหาต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งส่วนใหญ่เป็นต้นฉบับเอกสาร ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้คัดค้านสำเนาเอกสารฉบับใดของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างใด คงมีเพียงทนายจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าเอกสารหมาย จ. 20 ที่โจทก์นำส่งเป็นเพียงสำเนาเอกสารเท่านั้น เมื่อเอกสารหมาย จ. 20
ซึ่งมีถึง 63 แผ่นมีทั้งที่เป็นต้นฉบับและสำเนา ทั้งเป็นเอกสารเกี่ยวกับค่าขนส่ง ค่าตรวจสอบสินค้า ค่านายหน้าและค่าระวางเรือ ซึ่งศาลมิได้นำเอกสารดังมากล่าวพิจารณาในการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายเหล็กรีดร้อนกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 กำหนดส่งสินค้าทางเรือในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2543 เป็นอย่างช้า รวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น 2,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์ขนสินค้าเข้ามาในประเทศไทยพร้อมที่จะส่งมอบแต่จำเลยทั้งสองแจ้งโจทก์ว่ายังไม่พร้อมชำระเงิน ให้โจทก์รอสักระยะหนึ่งเพราะอยู่ระหว่างการจัดทำเลตเตอร์ออฟเครดิต ในวันที่ 7 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยทั้งสองประสบปัญหาทางการเงิน และขอเลื่อนการชำระเงินรวมทั้งบอกปัดในทำนองที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการแจ้งให้โจทก์นำสินค้าไปขายให้แก่บุคคลอื่นก่อน ในวันที่ 5 ตุลาคม 2543 โจทก์จึงขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นไปเพื่อบรรเทาความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากราคาสินค้ามีแนวโน้มจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ ได้เงินทั้งสิ้น 1,886,880 ดอลลาร์สหรัฐ การที่จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้โจทก์ขายสินค้าขาดทุนเป็นเงิน 513,120 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 22,233,489 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 513,120 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 22,233,489 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากมีการสั่งซื้อสินค้ากันตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 โจทก์กล่าวอ้างว่าทราบว่า จำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายได้ในเดือนกันยายน 2543 ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเดือนเมษายน 2545 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวกับโจทก์ภายหลังทำสัญญา เกิดปัญหาค่าเงินบาทลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าสินค้างวดก่อนหน้านี้ได้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต่อมามีการสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินการซื้อขายสินค้าพิพาท เป็นให้จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงด้วย โจทก์จึงไม่ยอมส่งสินค้าตามสัญญางวดแรกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว โจทก์จึงไม่สั่งสินค้าจากบุคคลอื่นและมิได้นำสินค้าลงเรือเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด การที่โจทก์เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตถือว่าเงื่อนไขตามสัญญาซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่มีการปฏิบัติ สัญญาซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่สามารถนำมาบังคับได้ จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่โจทก์จะสั่งซื้อสินค้าและขนสินค้าลงเรือเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นในราคาต่ำกว่าขายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นความสมัครใจของโจทก์ และเงื่อนไขการขายก็ไม่เหมือนกับเงื่อนไขที่โจทก์ตกลงกับจำเลยทั้งสอง อีกทั้งก่อนการขายโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 414,120 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายขดม้วนโลหะรีดร้อนกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ปริมาณ 10,000 เมตริกตันในราคา 2,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดส่งสินค้าทางเรือในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2543 เป็นอย่างช้า ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์ขนสินค้าเข้ามาในประเทศไทยพร้อมจะส่งมอบ วันที่ 7 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ว่า จำเลยทั้งสองประสบปัญหาทางการเงิน ขอเลื่อนการชำระเงินรวมทั้งบอกปัดในทำนองที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการแจ้งให้โจทก์นำสินค้าไปขายให้แก่บุคคลอื่นก่อน โจทก์จึงขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นไปเพื่อบรรเทาความเสียหายได้เงินทั้งสิ้น 1,886,880 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ขาดทุน 513,120 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 แล้ว ไม่ได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างในอุทธรณ์ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำไปสืบได้ในชั้นพิจารณา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถจัดทำเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อซื้อสินค้าได้ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลบังคับหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายพิพาทกันไว้สัญญาซื้อขายพิพาทจึงผูกพันคู่สัญญาและมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันทำสัญญา การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเพียงวิธีการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทเท่านั้นหาทำให้สัญญาซื้อขายพิพาทมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทด้วยการทำตั๋วแลกเงินและเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพิพาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายพิพาทโดยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องขายสินค้าพิพาทให้แก่ผู้อื่นในราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินที่โจทก์ควรจะได้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นความเสียเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า นายสิริชัยพยานโจทก์ไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการที่โจทก์ซื้อเหล็กจากผู้ผลิตว่าซื้อเท่าใด ราคาเท่าใด ไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการขนส่งว่าขนส่งอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอย่างไร จึงเป็นพยานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 นั้น เห็นว่า ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสิริชัยได้ความว่า พยานดังกล่าวทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีหน้าที่ติดต่อขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย พยานดังกล่าวให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นในเรื่องการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง การผิดสัญญาซื้อขายพิพาทของจำเลยทั้งสอง และความเสียหายของโจกท์อันเกิดแต่การผิดสัญญาซื้อขายพิพาท พยานดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้เห็นหรือทราบข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้การเป็นพยานโดยตรง จึงหาต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งส่วนใหญ่เป็นต้นฉบับเอกสารระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้คัดค้านว่าสำเนาเอกสารฉบับใดของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างใด คงมีเพียงทนายจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าเอกสารหมาย จ. 20 ที่โจกท์นำส่งเป็นเพียงสำเนาเอกสารเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ. 20 ซึ่งมีถึง 63 แผ่นมีทั้งที่เป็นต้นฉบับและสำเนา ทั้งเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับค่าขนส่ง ค่าตรวจสอบสินค้า ค่านายหน้าและค่าระวางเรือ ซึ่งศาลมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาพิจารณาในการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์โดยพิจารณาจากจำนวนเงินที่โจทก์ขาดไปจากเงินที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยที่ 1 จากการซื้อขายสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทเป็นเกณฑ์และกำหนดค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น