คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ บัญญัติว่า “การกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน” ในข้อนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำนวนเงิน 710,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจค้นพบเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุอยู่ในกล่องสุราที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาของเงินจำนวนนี้ในลักษณะที่เป็นการฟอกเงิน กล่าวคือ ทำให้เงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแปรสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยเสมือนหนึ่งถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสุนปืน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1238/2546 ของศาลจังหวัดอ่างทอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้องและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2) ด้วย), 97, 101/1, 102 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต และปรับอีกสถานหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของจำเลยทั้งสองและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว เห็นสมควรปรับคนละ 100,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 บาท ฐานฟอกเงิน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี เนื่องจากลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษและนำโทษจำคุกฐานฟอกเงินมารวมอีกได้ คำรับสารภาพชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 68,666 บาท ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสุนปืน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1238/2546 ของศาลจังหวัดอ่างทอง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 66,666 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับ 44,444 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจเอกพีระพงษ์ ชูเกียรติชาติ กับพวก จับกุมจำเลยทั้งสองโดยยึดได้เมทแอมเฟตามีน 1,983 เม็ด น้ำหนัก 208.38 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 52.37 กรัม กระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 จำนวน 50 นัด โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง รถจักรยานยนต์ 1 คัน และเงินสด 710,000 บาท เป็นของกลาง สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา การกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 710,000 บาท ซึ่งได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนไว้ในกล่องสุรานั้นเป็นการกระทำอันเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2) แล้ว เห็นว่า ตามมาตรา 5 (2) ดังกล่าวบัญญัติว่า “การกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน” ในข้อนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำนวนเงิน 710,000 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจค้นพบเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุอยู่ในกล่องสุราที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาของเงินจำนวนนี้ในลักษณะที่เป็นการฟอกเงิน กล่าวคือ ทำให้เงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแปรสภาพเป็นเงินที่ได้มาโดยเสมือนหนึ่งถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับจำเลยที่ 1 หรือไม่…ฯลฯ…พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มั่นคงพอให้รับฟังได้โดยสนิทใจ คดียังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยข้อนี้ให้จำเลยที่ 2 …ฯลฯ…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share