แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งว่าจำเลยมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญา ซื้อขายที่ดินของจำเลยตลอดจนมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยอันเป็นผลของการยกเลิกการล้มละลายนั้น มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528 ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ส่วนทรัพย์สินของจำเลยที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการแบ่งชำระให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายตามส่วนที่ศาลอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้รวมตลอดถึงจัดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย หากมีเงินเหลือให้คืนแก่จำเลย ในระหว่างจำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 49866 และ 75567 ตำบลสีกัน อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยให้แก่บริษัทฟรีเวย์พร๊อพเพอตี้ จำกัด
จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ริบเงินมัดจำตามสัญญาซื้อขายที่บริษัทฟรีเวย์พร๊อพเพอตี้ จำกัด วางไว้ในวันทำสัญญารวมเข้าไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลย คืนต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 49866 และ 75567 ตำบลสีกัน อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยโดยปราศจากภาระจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ (ระงับจำนอง) และให้มีหนังสือแจ้งถอนการยึดและระงับจำนองถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง กับคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ โดยยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้ถือเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 ภายหลังพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ใช้บังคับแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวว่าด้วยอุทธรณ์ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมาตรา 24 บัญญัติให้อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง เท่านั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งว่า จำเลยมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายที่ดินตลอดจนมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวอันเป็นผลของการยกเลิกการล้มละลายมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 24 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งไม่มีกรณีจำต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย