คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6397/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบกระสุนปืนให้โจทก์ โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที แต่ได้เร่งรัดให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการปรับตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบกระสุนปืนให้โจทก์ได้โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบังคับตามสัญญาข้อ 10 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ คือ ริบเงินหลักประกันและปรับจำเลยเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจนถึงวันที่บอกเลิกสัญญา แต่เงื่อนไขเรื่องเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงแต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน…” ตามข้อเท็จจริงราคาทรัพย์ที่จำเลยตกลงขายให้โจทก์คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 539,916.44 บาท จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบกระสุนปืนภายในกำหนด แม้โจทก์จะให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญาแต่จำเลยก็ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จึงควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายในระยะเวลาที่สมควรแต่โจทก์เพิ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ เป็นการปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเกินสมควร จึงตกเป็นภาระแก่จำเลยต้องถูกปรับมากเกินไป สมควรลดค่าปรับให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกระสุนปืนเล็กสั้นบรรจุเองจากจำเลยเป็นราคาทั้งสิ้น 539,916.44 บาท ต่อมาเมื่อครบกำหนดส่งมอบสินค้า จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับจำนวน 572,311.43 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 232,164.08 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2532 จำเลยทำสัญญาขายกระสุนปืนเล็กสั้นบรรจุเองให้โจทก์ในราคาทั้งสิ้น 539,916.44 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อครบกำหนดส่งมอบจำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับและนำเงินหลักประกันที่โจทก์ได้รับจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) มาหักออกจากเบี้ยปรับได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบกระสุนปืนให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที แต่ได้เร่งรัดให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการปรับตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบกระสุนปืนให้โจทก์ได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบังคับตามสัญญา ข้อ 10 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ คือ ริบเงินหลักประกันและปรับจำเลยเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาคือวันที่ 18 พฤษภาคม 2533 จนวันที่บอกเลิกสัญญา แต่เงื่อนไขเรื่องเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน…” ตามข้อเท็จจริงราคาทรัพย์ที่จำเลยตกลงขายให้โจทก์คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 539,916.44 บาท จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบกระสุนปืนภายในกำหนดคือวันที่ 18 พฤษภาคม 2533 แม้โจทก์จะให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญาแต่จำเลยก็ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จึงควรใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายในระยะเวลาที่สมควร แต่โจทก์เพิ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2534 หลังสัญญาครบกำหนดแล้วเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ เป็นการปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเกินสมควร จึงตกเป็นภาระแก่จำเลยต้องถูกปรับมากเกินไป สมควรลดค่าปรับให้จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 0.10 เป็นเวลา 530 วัน คิดเป็นเงิน 286,155.72 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินจำนวน 53,991.64 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) มาหักออกจากเงินค่าปรับดังกล่าวนั้น เห็นว่า เงินหลักประกันดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั่นเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง กำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้น ในฐานะเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองให้ลดเบี้ยปรับโดยให้หักเงินหลักประกันดังกล่าวจากค่าปรับเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share