คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 มีความว่า ‘ให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว ฯลฯ’ คำว่า ‘บิดา’ ดังกล่าวน่าจะหมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะเห็นได้ว่า คำว่า ‘บิดา’ที่ใช้ในพระราชบัญญัติสัญชาติฯ มาตรา 7,8,14,15,17,21 และ 24 ซึ่งมีความหมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ระบุใช้คำว่า ‘บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย’ ไว้แต่อย่างใด เว้นแต่กรณีใดประสงค์จะเน้นให้แตกต่างจากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นในมาตรา 18 ที่ระบุว่า มารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นต้น ดังนั้นคำว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงหมายความถึงว่าบิดาที่เป็นคนต่างด้าวจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นาง ค. เป็นบุคคลเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยมาแต่กำเนิด นาง ค. ได้สมรสกับนาย บ. แต่มิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 6 คน นาง ค. ไปขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านของนาง ค.และบุตรผู้เยาว์ผู้ร้องเพื่อนำไปประกอบหลักฐานในการซื้อขายที่ดินนายทะเบียนราษฎรอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมไม่ยอมให้คัดอ้างว่าบุตรผู้เยาว์เป็นคนต่างด้าวโดยนายทะเบียนราษฎรอำเภอท่าอุเทนขีดฆ่าคำว่า “ไทย” ออก แล้วเขียนคำว่า “ญวน” ลงแทนในช่องสัญชาติผู้ร้องได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้มีคำสั่งว่าบุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนของนาง ค. เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้ดำเนินการ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมหาได้สั่งให้ดำเนินการไม่และได้แนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปได้ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องเสียหายทั้งเป็นการลิดรอนสิทธิต่าง ๆ อันผู้ร้องควรได้รับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นาง ค. ได้ทำการสมรสมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุตรที่เกิดมาทั้ง 6 คนจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนาง ค. ไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 บุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนจึงเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งว่าบุตรของนาง ค. ทั้ง 6 คนมีสัญชาติไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมและยังไม่มีสิทธิร้องต่อศาล บุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนของนาง ค. เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ โดยมีบิดาชื่อนาย บ. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว แม้นาย บ. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนาง ค. บุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนย่อมเสียสัญชาติไทยไปทันทีโดยผลของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 การกระทำของนายอำเภอท่าอุเทนจึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียหายอย่างใด ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ประสงค์จะให้มีการเพิกถอนสัญชาติไทยเฉพาะบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้มีการสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้ง 6 คนเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้ยกคำร้องคัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำว่าบิดาตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 หมายรวมถึงบิดาโดยธรรมชาติหรือโดยสายโลหิตด้วย แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนกับนาย บ. ซึ่งเป็นคนสัญชาติญวน และได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวก็ต้องถือว่า นาย บ. เป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนของผู้ร้อง ตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ด้วย ผู้คัดค้านสั่งถอนสัญชาติไทยของบุตรผู้เยาว์ทั้ง 6 คนเป็นการชอบ พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 มีข้อความว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ” เห็นว่า คำว่า “บิดา” ดังกล่าวน่าจะหมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะเห็นได้ว่า คำว่า “บิดา” ที่ใช้ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 8, 14, 15, 17, 21 และ 24 ซึ่งมีความหมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ระบุใช้คำว่า “บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย” ไว้แต่อย่างใด เว้นแต่กรณีใดประสงค์จะเน้นให้แตกต่างจากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นในมาตรา 18 ที่ระบุว่ามารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นต้น ดังนั้น คำว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 จึงหมายความถึงว่าบิดาที่เป็นคนต่างด้าวจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่หมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย กรณีของผู้ร้องนี้จึงไม่อยู่ในบังคับถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share