คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6787/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาอาจแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากันได้ตามหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 386 และมาตรา 582 โดยนายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 31 มกราคม 2546 ย่อมมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แม้จำเลยจะมีระเบียบขององค์การค้าของคุรุสภาที่ออกโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.ครูฯ กำหนดให้การลาออกของลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาก่อน จำเลยก็มิได้โต้แย้งหรือสั่งให้ระงับใบลาออกของโจทก์ จนกระทั่งการสอบสวนที่กล่าวหาว่าโทษกระทำผิดสิ้นสุดลงโดยที่โจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยก็มิได้สั่งการเกี่ยวกับใบลาออกของโจทก์แต่กลับจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2546 แสดงว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยปริยายแล้ว
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงด้วยการลาออก มิได้สิ้นสุดลงเนื่องจากโจทก์กระทำความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญ และเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา (ฉบับที่ 2)ฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 284,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 284,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2532 ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับ 7 สังกัดผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,320 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน นายชาติชัย พาราสุข มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาในขณะเกิดเหตุ วันที่ 29 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นใบลาออกโดยให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 และโจทก์เคยมีหนังสือขอรับเงินบำเหน็จ จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ในระหว่างทำงานจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าลูกโลก ประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยได้มีหนังสือถึงรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเพื่อให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยโจทก์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีคำสั่งจ้างโจทก์และมีการทำสัญญาว่าจ้างจำเลยแจ้งการลาออกของโจทก์ให้สำนักงานประกันสังคมทราบ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 ในกรณีที่โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้าลูกโลก คณะกรรมการสอบสวนได้สรุปผลการสอบสวนไว้ ต่อมาผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามีความเห็นว่าโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงให้ยุติการสอบสวน โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการออกใบรับเงินชั่วคราวไม่ถูกต้อง ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดให้ลงโทษตัดเงินเดือน แต่เนื่องจากโจทก์ออกจากงานไปก่อนจึงไม่ได้ลงโทษ จำเลยเคยเป็นโจทก์ฟ้องนายวิชัย พยัคฆโส กับพวก รวม 10 คน ต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีเกี่ยวกับการจัดซื้อสินค้าลูกโลก โดยมิได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ได้ขาดจากการเป็นลูกจ้างจำเลยด้วยการลาออกหรือไม่ มีผลเมื่อใด โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ขาดจากการเป็นลูกจ้างจำเลยด้วยการลาออกนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 อันเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือสถานประกอบการที่ไม่มีระเบียบข้อบังคับใช้ในหน่วยงานของตนเองหรือไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับเท่านั้น ส่วนหน่วยงานของจำเลยมีพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งขององค์การค้าของคุรุสภาฉบับต่างๆ กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุญาต เมื่อโจทก์ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 แต่ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภายังไม่ได้ลงนามในคำสั่งให้โจทก์ลาออก เนื่องจากโจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย โจทก์มีหน้าที่ต้องมาให้ถ้อยคำแก่คณะกรรมการสอบสวน และต้องมาปฏิบัติงานจนกว่าผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาจะพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ลาออกได้แต่โจทก์ไม่มาปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 อันเป็นการละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 คำพิพากษาศาลแรงงานกลางย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ระเบียบและคำสั่งขององค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาอาจแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากันได้ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 และมาตรา 582 โดยนายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าแต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 30 มกราคม 2546 ย่อมมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แม้จำเลยจะมีระเบียบขององค์การค้าของคุรุสภาที่ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 กำหนดให้การลาออกของลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาก่อน จำเลยก็มิได้โต้แย้งหรือสั่งให้ระงับใบลาออกของโจทก์ จนกระทั่งการสอบสวนที่กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าลูกโลกสิ้นสุดลงโดยที่โจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยก็มิได้สั่งการเกี่ยวกับใบลาออกของโจทก์ แต่กลับจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2546 แสดงว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกโดยปริยายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกโดยยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา แต่โจทก์ไม่มาปฏิบัติงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจนถูกจำเลยเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาในอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 ด้วยการลาออก มิได้สิ้นสุดลงเนื่องจากถูกจำเลยเลิกจ้างเพราะละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงโดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญ และเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2520 จำนวนตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share