คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ห้ามจำเลยเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน จำเลยจึงออกจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจ ส. ร้องขอ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยกลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอก ย. จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า “พี่ผิดไปแล้ว” ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกพนักงานอัยการโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียก โจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 289 (4), 371 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ (ที่ถูก 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก และโดยไม่มีเหตุสมควร) ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นบทหนักที่สุด (ที่ถูก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลาง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 34 ปี 8 เดือน ริบซองกระสุนปืน กระสุนปืน 6 นัด และปลอกกระสุนปืน 1 ปลอกของกลาง ยกคำขอให้ริบอาวุธปืนของกลาง ส่วนข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีและพาอาวุธปืนตามฟ้องติดตัวไปในที่เกิดเหตุและใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายถวิล น้อยหลี ผู้ตาย ถูกที่บริเวณคอด้านขวาใต้ติ่งหูทะลุลำคอด้านซ้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามรายงานการตรวจศพ สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืน ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะใช้ดุลพินิจให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เช่นเดียวกับซองกระสุนปืน กระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่ริบอาวุธปืนของกลางและโจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหาข้อนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ตายจะยิงจำเลยก่อน โจทก์ทั้งสองมีสิบตำรวจเอกสมยศ ไกรกิจธนโรจน์ และจ่าสิบตำรวจสถิตย์หรือฤทธิ์ฤกษ์ ลวดทอง เป็นพยานเบิกความได้ความว่า หลังจากผู้ตายดื่มเบียร์ได้ประมาณครึ่งขวด จำเลยและนายธวัชชัยเดินมาร่วมโต๊ะกับผู้ตายโดยจำเลยนั่งที่ม้านั่งฝั่งตรงข้ามผู้ตาย นายธวัชชัยนั่งที่ม้านั่งข้างจำเลย ต่อมาจำเลยโต้เถียงกับผู้ตายโดยจำเลยถามว่าเหตุใดผู้ตายจึงห้ามจำเลยเข้าไปเที่ยวในร้านอาหารครัวอัญชัญซึ่งอยู่ที่ถนนศรีนครินทร์ และเรื่องที่จำเลยยิงสุนัขพันธุ์ฝรั่งของผู้อื่นตายแล้วขอยืมเงินจากโจทก์ที่ 2 ภริยาผู้ตาย 3,000 บาท นำไปจ่ายค่าเสียหายให้เจ้าของสุนัข จ่าสิบตำรวจสถิตย์ได้ยินการโต้เถียงเสียงดังจึงลุกมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและพวกด้วย จ่าสิบตำรวจสถิตย์ห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน ทั้งยังบอกให้จำเลยซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าผู้ตายกลับไปก่อน โดยก่อนจำเลยจะกลับผู้ตายขอโทษและยกมือไหว้จำเลยพร้อมกับยิ้มให้จำเลย จำเลยเดินออกจากร้านไป จ่าสิบตำรวจสถิตย์ต่อว่าผู้ตายเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบคาย ผู้ตายพูดว่า “พี่ผิดไปแล้ว” ขณะนั้นเวลาประมาณ 24 นาฬิกา หลังจากจำเลยเดินออกจากร้านได้ประมาณ 5 นาที ก็เดินกลับเข้ามาในร้านมายืนใกล้กรงนกใกล้กับผู้ตายและพวกนั่งอยู่ โดยจำเลยยืนอยู่ทางด้านซ้ายมือของสิบตำรวจเอกสมยศ เมื่อสิบตำรวจเอกสมยศเห็นจำเลยแล้วก็หันกลับ ขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด สิบตำรวจเอกสมยศหันไปดูเห็นจำเลยถืออาวุธปืนสั้นออโตเมติกอยู่ในมือข้างขวา ปรากฏว่าผู้ตายถูกยิงในท่านั่งคอเอนลงมีเลือดไหลบริเวณลำคอต่ำกว่าติ่งหูด้านขวา จำเลยเล็งอาวุธปืนมาที่สิบตำรวจเอกสมยศขณะนั้นจ่าสิบตำรวจสถิตย์กำลังเดินเข้าไปในห้องน้ำ สิบตำรวจเอกสมยศไปหลบข้างหลัง จ่าสิบตำรวจสถิตย์ซึ่งพูดขออาวุธปืนจากจำเลย จำเลยไม่ให้ จึงแย่งอาวุธปืนกัน จ่าสิบตำรวจสถิตย์แย่งอาวุธปืนมาได้ จำเลยวิ่งหนีออกจากร้านแล้วขับรถจักรยานยนต์หนีไปทางปากซอย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเชื่อมโยงสอดคล้องกันโดยไม่มีพิรุธ แม้เหตุคดีนี้เกิดเวลากลางคืน แต่สถานที่เกิดเหตุเป็นร้านอาหารบริเวณซุ้มหรือโต๊ะอาหารที่พยานโจทก์ทั้งสองและจำเลยกับผู้ตายนั่งอยู่มีแสงสว่างจากไฟฟ้านีออนหลอดยาวที่ติดอยู่ที่หลังคาซุ้ม แสงสว่างจากไฟฟ้านีออนหลอดยาวจากกรงนกที่อยู่ใกล้กับซุ้ม และแสงสว่างจากจุดเก็บเงินของร้านอาหารตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ผู้ตายห้ามจำเลยเข้าไปในร้านอาหารครัวอัญชัญ จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจสถิตย์ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน และจำเลยยอมออกไปจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจสถิตย์ร้องขอ น่าเชื่อว่า จ่าสิบตำรวจสถิตย์พยานโจทก์เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอดและเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยและผู้ตายอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยออกไปจากร้านเพียงประมาณ 5 นาทีก็กลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอกสมยศจนจ่าสิบตำรวจสถิตย์ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความจากจ่าสิบตำรวจสถิตย์ว่า เมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไป จ่าสิบตำรวจสถิตย์จะต่อว่าผู้ตายเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบคายและผู้ตายพูดว่า “พี่ผิดไปแล้ว” ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ และที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตนเองเนื่องจากขณะนั้นผู้ตายชักอาวุธปืนจะเล็งยิงจำเลยก่อนนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพผู้ตายถูกยิงขณะนั่งอยู่ที่เดิมและสภาพบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยาซึ่งมีกระสุนเข้าบริเวณลำคอด้านขวาจากบนลงล่างอันแสดงว่าผู้ตายถูกยิงขณะผู้ตายนั่งหันข้างด้านขวาให้จำเลยซึ่งยืนยิงอยู่บริเวณกรงนกสอดคล้องกับตำแหน่งที่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ที่จำเลยนำสืบว่า ผู้ตายมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยก็ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และมีส่วนแก้ไขในเหตุการณ์เบิกความยืนยันว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายเล็งอาวุธปืนจะยิงจำเลยก่อน สิบตำรวจเอกสมยศเบิกความว่า ผู้ตายมีอาวุธปืนโดยนั่งทับที่ขาพับด้านซ้ายแต่ก็ยืนยันว่าจำเลยยิงผู้ตายฝ่ายเดียว และนางสมจิตร พร้อมศักดิ์ เจ้าของร้านที่เกิดเหตุก็เบิกความว่าเห็นอาวุธปืนตกอยู่ที่พื้นด้านขวาของผู้ตายหลังเกิดเหตุแล้ว ซึ่งกรณีอาจเป็นเพราะอาวุธปืนเลื่อนไหลตกหลังจากผู้ตายถูกยิงแล้ว คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าเบิกความในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญตรงไปตรงมาทั้งจำเลยก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับพยานโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมาเบิกความส่อไปในทางใส่ร้ายหรือปรักปรำจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพราะจำเลยไม่พอใจและมีความโกรธแค้นต้องการเอาชีวิตผู้ตาย มิใช่จำเลยกระทำโดยป้องกันเพราะผู้ตายเล็งอาวุธปืนจะยิงจำเลยก่อนดังที่จำเลยฎีกาไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ หลังจากลดโทษแล้วให้จำคุก 33 ปี 4 เดือน นับว่าเป็นการปราณีและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share