คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่
การกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงิน 2 ฉบับ จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ นับแต่กู้เงินไปจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย นับถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินรวม 125,589 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 125,589 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 89,571 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินกู้ตามสัญญาจากโจทก์ โจทก์ตั้งวงแชร์ มีสมาชิกร่วมเล่น 20 มือ มือละ 3,000 บาท โดยมีโจทก์เป็นนายวงแชร์จำเลยเป็นสมาชิกร่วมเล่น 1 มือ ประมูลแชร์ทุกต้นเดือน เดือนกันยายน 2539 จำเลยประมูลแชร์ได้โดยเสนอให้ดอกเบี้ย 561 บาท มีสิทธิได้รับเงินแชร์ 48,024 บาท โจทก์เกรงว่าจำเลยจะไม่ชำระค่าแชร์ในงวดต่อไป จึงให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินมอบให้โจทก์ไว้ การเล่นแชร์ดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วน หลังจากนั้นโจทก์ตั้งวงแชร์ใหม่อีก มีสมาชิกร่วมเล่น 21 มือ มือละ 3,000 บาท จำเลยกับภรรยาร่วมเล่นคนละ 1 มือ จำเลยประมูลแชร์ได้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 โดยเสนอให้ดอกเบี้ย 909 บาท มีสิทธิได้รับเงินแชร์ 41,547 บาท โจทก์ให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นประกันเช่นเดิม ต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว สัญญากู้เงินตามฟ้องทั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ ทั้งเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์และเป็นเอกสารปลอม เพราะจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และกรอกข้อความระบุชื่อจำเลยและจำนวนเงินข้อความส่วนอื่นโจทก์กรอกเองในภายหลังโดยจำเลยไม่ยินยอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ เพราะเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์เฉพาะในข้อที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า การนำสืบพยานของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญากู้เงินตามฟ้อง ต้องห้ามตามมาตรา 94 (ข) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ที่ถูกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) เพราะจำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน โดยกล่าวอ้างว่าได้ชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ผูกพันกับโจทก์ตามสัญญากู้เงินแต่ความจริงยังไม่มีการเพิกถอนใด ๆ ในสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไปและต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับซึ่งเป็นผลให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขในส่วนนี้เสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาวินิจฉัยเองได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share