คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจะถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 ก็ต่อเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดที่บริเวณตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร แต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรจึงถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, 32, 37 ตรี พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6, 6 ทวิ, 20 ทวิ, 25 ตรี พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.2466 มาตรา 19, 31 พระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 282 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และริบของกลางทั้งหมด โดยเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางขอให้ริบไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ กับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ (ที่ถูกไม่ผิดตามมาตรา 27 ทวิ), 32, 37 ตรี พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6, 6 ทวิ, 20 ทวิ, 25 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.2466 มาตรา 19, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จำคุก 1 ปี ฐานขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานค้าน้ำมันโดยตั้งเป็นสถานีบริการ จำคุก 2 เดือน ฐานมีเครื่องวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง จำคุก 6 เดือน ฐานมีเครื่องรับส่งวิทยุ จำคุก 3 เดือน ฐานจัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 20 เดือน ส่วนคำขอให้ริบของกลางทั้งหมดและให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับกับรางวัลแก่ผู้นำจับให้ยก เพราะศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 6158/2541 ให้ริบของกลางทั้งหมดและให้จ่ายสินบนนำจับกับรางวัลแก่ผู้นำจับไปแล้ว และข้อหาตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6, 6 ทวิ, 20 ทวิ, 25 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 และพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.2466 มาตรา 19, 31 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกและยึดเรือชื่อจอร์แดนซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ควบคุมเรือ ในที่เกิดเหตุบริเวณอ่าวไทย ตำบลพิกัดละติจูดที่ 10 องศา 44 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 99 องศา 55 ลิปดาตะวันออก พิกัดดังกล่าวอยู่ในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยตามประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าความผิดดังกล่าวได้กระทำในราชอาณาจักรหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดดังกล่าวจำเลยได้กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 ประกอบด้วยประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร ดังนั้น การจะถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวก็ต่อเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรและผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6, 6 ทวิ, 20 ทวิ, 25 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 และพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.2466 มาตรา 19, 31 ด้วย นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share