แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแยกต่างหากจากกัน แม้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 ร่วมกันออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างพิมพ์ปฏิทิน และขณะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนั้น บริษัทโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็คและเป็นผู้ได้รับความเสียหายเช่นนี้ จำเลยทั้งสามย่อมเป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเงินจำนวนฉบับละ 1,000,000 บาท มอบให้บริษัทธีรนาถ แอนด์แอ็ดว้านซ์ พริ้นติ้ง จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าจ้างตามสัญญาจ้างพิมพ์อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทธีรนาถ แอนด์แอ็ดว้านซ์ พริ้นติ้ง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 รวมสี่กระทง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 60,000 บาท รวมสี่กระทงให้ปรับ 240,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละกระทงละ 1 ปี รวมสี่กระทง จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้คนละ 4 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 9 เดือน รวมสี่กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 36 เดือน ให้ยกในส่วนที่ศาลชั้นต้นให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 เสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วมและเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะของผู้เสียหายด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่อาจนำคดีไปสู่ศาลได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแยกต่างหากจากกัน แม้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 ร่วมกันออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างพิมพ์ปฏิทิน และขณะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนั้น บริษัทโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็คและเป็นผู้ได้รับความเสียหายเช่นนี้ จำเลยทั้งสามย่อมเป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมิใช่อยู่ในฐานะผู้เสียหายด้วยแต่อย่างใด โจทก์ร่วมสามารถดำเนินการเพื่อนำคดีมาสู่ศาลได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน