คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอาการทางจิตหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยไม่ได้ยกเหตุว่ามีอาการทางจิตในขณะกระทำความผิดขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับแก่ข้อกฎหมายได้ ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 92, 218 (1) เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 (1) ประกอบมาตรา 80 จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี 9 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสาม เป็นจำคุก 1 ปี 16 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 14 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาโดยอ้างเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยป่วยมีอาการทางจิตใจขณะกระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะต้องหยิบยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 มาวินิจฉัยให้จำเลยรับโทษน้อยลงหรือไม่ต้องรับโทษถึงแม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นก็ตามนั้น เห็นว่า ปัญหาใดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติก่อน คดีนี้ปรากฏว่าในศาลชั้นต้นจำเลยมิได้ยกเหตุว่ามีอาการทางจิตในขณะกระทำความผิดขึ้นอ้าง จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับแก่ข้อกฎหมายดังที่จำเลยอ้างได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share