แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ ยกเลิกความในมาตรา 15 และ มาตรา 66 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 วรรคสอง เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 15 วรรคสาม (2) จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ได้ความเพียงว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 55 เม็ด น้ำหนัก 4.880 กรัม และอีก 1 ชิ้นไม่ทราบน้ำหนักเท่านั้นไม่เข้าข้อสันนิษฐานตาม มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ที่ว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งพยานโจทก์ชุดจับกุมเบิกความแต่เพียงว่า ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดอยู่ในถุงพลาสติกม้วนอยู่ใต้กางเกงชั้นในวางอยู่ที่พื้นข้างตู้ใส่พระเครื่อง และค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 50 เม็ดใส่ถุงพลาสติกซ่อนอยู่ใต้ดินในเล้าหมู ส่วนที่กล่าวอ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงมีเพียงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนเท่านั้น โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้โจทก์จะนำสืบว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ แต่คำรับสารภาพดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซ้อม โดยมีบันทึกข้อความซึ่งพยาบาลเทคนิครับรองอาการบาดเจ็บของจำเลย ทั้งจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารใดให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น บันทึกการตรวจค้นจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง คงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โจทก์ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน เป็นเวลา 1 ปี และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจเอกสุชาย ศรอารา จับกุมจำเลย และยึดเมทแอมเฟตามีนรวม 55 เม็ด เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 ดังนั้น จึงเท่ากับว่าในขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 วรรคสองเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 15 วรรคสาม (2) จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ดังนั้น การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 55 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ย่อมเป็นการกล่างอ้างอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ก็ได้ความเพียงว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 55 เม็ด น้ำหนัก 4.880 กรัม และอีก 1 ชิ้นไม่ทราบน้ำหนักเท่านั้น จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานโจทก์ชุดที่ไปจับกุมจำเลยคือ ร้อยตำรวจเอกสุชาย ศรอารา และสิบตำรวจตรีสุรพจ เขาแก้ว เบิกความแต่เพียงว่า พ้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดอยู่ในถุงพลาสติกใสม้วนอยู่ใต้กางเกงชั้นในวางอยู่ที่พื้นข้างตู้ใส่พระเครื่อง และค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 50 เม็ดบรรจุถุงพลาสติกใสมีซิปปิดเปิดในตัว ใส่อยู่ในถุงพลาสติกสีน้ำเงินห่อด้วยกระดาษสีเขียวซึ่งเป็นกระดาษสั่งจองไม้ยูคาลิปตัส อยู่ในถุงพลาสติกมีหูหิ้วอีกชั้นหนึ่ง และใช้หนังยางพันโดยรอบไว้ซ่อนอยู่ใต้ดินในเล้าหมู โดยสิบตำรวจตรีสุรพลเป็นผู้ค้นพบ ส่วนที่กล่าวอ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงมีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.2 และในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.10 เท่านั้น โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้โจทก์จะนำสืบว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพแต่คำรับสารภาพดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง นอกจากนี้จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซ้อมโดยคนหนึ่งเข้ามาบีบคอ อีกคนหนึ่งใช้มือล้วงเข้าไปในปากจนหายใจไม่ออกและปัสสาวะไหลออกมา จำเลยจึงกัดมือผู้จับกุม จากนั้นผู้จับกุมทุบจำเลยจนหมดสติโดยจำเลยมีบันทึกข้อความเรื่องผู้ต้องขังหญิงอ้างว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจซ้อมตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีพยาบาลเทคนิค 2 รับรองว่าตรวจพบตาอักเสบแดงทั้งสองข้าง (แดงมาก) แก้มซ้ายบวม บริเวณปากมีรอบแผลแตก ทั้งจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารใดให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น บันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.10 จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 55 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง อย่างไรก็ตามพยานทั้งสองของโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าพยานทั้งสองให้จำเลยพาตรวจค้นภายในบ้าน พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด อยู่ในถุงพลาสติกใสม้วนอยู่ใต้กางเกงชั้นในวางอยู่ที่พื้นข้างตู้ใส่พระเครื่อง ภายในบ้านของจำเลยโดยมีจำเลยนำตรวจค้น และสิบตำรวจตรีสุรพล เป็นผู้ค้นพบ และจำเลยรับว่าเป็นของตนเอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแต่เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 15 ที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 67 นั้น กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้แก้ไข ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรีบบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7