คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 กับนางสงัด แซ่ตั้ง จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อส่งสินค้าของจำเลยที่ 5 โดยขับออกจากด้านหลังห้างสรรพสินค้าเซฟโก้ สาขาบางแค มาตามซอยด้านข้างห้างสรรพสินค้าเพื่อจะออกสู่ถนนเพชรเกษมด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงทางแยกซึ่งเป็นทางออกทางด้านข้างของห้างสรรพสินค้า จำเลยที่ 1 ควรใช้ความระมัดระวังลดความเร็วลง แต่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ต่อไปด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนล้อหน้าของรถจักรยานยนต์ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองไม่ปกติ ไม่สามารถช่วยตนเองได้ พูดไม่ได้ ต้องพิการตลอดชีวิต ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถประกอบการงาน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 500,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,760,315 บาท โจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องดอกเบี้ยของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 75,000 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 132,023 บาท จำเลยที่ 6 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 1,075,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,680,315 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในเงินต้นจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เยาว์อายุ 14 ปี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 ท – 1448 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 6 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่งสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซฟโก้ สาขาบางแค ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกจากด้านหลังห้างสรรพสินค้าดังกล่าวเพื่อจะออกสู่ถนนเพชรเกษม เมื่อถึงทางแยกได้ชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ฉ – 0205 ที่โจทก์ที่ 1 ขับ มีเด็กชายธีรวัฒน์ แซ่ตั้ง และเด็กชายวรพจน์ ตั้งสัมฤทธิ์กุล นั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ที่ 1 ในข้อนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีด้วยการรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่นำสืบทั้งปวงโดยละเอียด และชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูง เมื่อใกล้ถึงทางแยกที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชะลอความเร็วของรถยนต์ลงเป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ขับ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองฟังได้ว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หาใช่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาไม่ ข้อที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัยนั่งซ้อนท้ายกัน 3 คน และขับรถจักรยานยนต์จากลานจอดรถสู่ผิวจราจรโดยไม่หยุดรถให้สนิทเพื่อดูให้ปลอดภัยเสียก่อนว่าถนนทางตรงมีรถอื่นแล่นอยู่หรือไม่ อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัยและนั่งซ้อนท้ายกัน 3 คน มิใช่เหตุโดยตรงที่จะฟังว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้รถชนกัน กลับได้ความจากคำเบิกความของเด็กชายธีรวัฒน์ แซ่ตั้ง กับเด็กชายวรพจน์ ตั้งสัมฤทธิ์กุล พยานโจทก์ทั้งสองที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไปในขณะเกิดเหตุว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาถึงทางออกจากห้างสรรพสินค้าได้ชะลอความเร็วเพื่อจะหยุดรถและเลี้ยวขวาได้มีรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับมาจากด้านหลังห้างสรรพสินค้าแล่นชิดขวาชนล้อหน้าของรถจักรยานยนต์สอดคล้องกับสภาพความเสียหายของรถยนต์และรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ ตามสำเนาภาพถ่ายและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ. 21 และ จ. 24 และภาพถ่ายหมาย ล. 1 รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายที่ล้อหน้าและโช้กอัพคู่หน้าหลุดจากตัวถัง ส่วนรถยนต์ได้รับความเสียหายที่บังโคลนหน้าด้านขวาบุบยุบเป็นรอยครูด ไฟเลี้ยวหน้าขวาแตกพร้อมกรอบโคมไฟหัก แสดงว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ชนบริเวณล้อหน้ารถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ขับมาอย่างแรงจนโช้กอัพคู่หน้าและล้อหน้าของรถจักรยานยนต์หลุดออกจากตัวรถ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พุ่งชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับที่ประตูด้านคนขับนั้น ปรากฏว่าประตูรถยนต์ด้านคนขับที่จำเลยที่ 1 ขับมีรอยบุบเล็กน้อยกลับมีความเสียหายที่บังโคลนด้านหน้าขวามากกว่า และไฟเลี้ยวหน้าขวาแตก ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สมเหตุผล พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะมาด้วยความเร็วสูงเมื่อถึงทางแยกไม่ชะลอความเร็วและชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ขับ ดังนั้น เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว
ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดค่ารักษาพยาบาลต่อโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกิน 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท และค่าเสียความสามารถประกอบการงานของโจทก์ที่ 1 ในจำนวนไม่เกิน 1,000,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 6 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในจำนวนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.1 และ 2.3 นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2), 1087 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองโดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องโจทก์โดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นบุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคแรก ซึ่งการอุปการะเลี้ยงดูย่อมรวมถึงการดูแลรักษาพยาบาลผู้เยาว์เมื่อได้รับความเจ็บป่วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายจากการดูแลรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ที่ 2 ต้องจ่ายไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าเสียความสามารถประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสอันมิใช่ความผิดร้ายแรงดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่นำสืบโต้แย้งว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงาน มีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัว สมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลกต้องใช้เวลารักษาเป็นเวลานานอาจเป็นปีตามใบรับรองแพทย์และหนังสือโรงพยาบาลเอกสารหมาย จ. 16 ถึง จ. 18 และยังได้ความว่า หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลา ทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติได้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบการงานมีอาชีพต่อไปได้อย่างสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหายโดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา และโจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share