แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า “รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ…(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว… (13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ” หมายความว่า รายจ่ายที่จะนำมาคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิได้นั้นต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงงานหล่อดอกยางรถยนต์และจำหน่ายยางรถยนต์ โดยใช้อาคาร 2 ชั้น ชั้นหนึ่งใช้ประกอบกิจการ ส่วนอีกชั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยของหุ้นส่วนโจทก์ ไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารสถานประกอบของโจทก์จึงแยกเป็น 2 มิเตอร์ เป็นชื่อโจทก์ 1 มิเตอร์ และ จ. หุ้นส่วนโจทก์อีก 1 มิเตอร์ ดังนั้น ค่าไฟฟ้ามิเตอร์ของ จ. หุ้นส่วนโจทก์เป็นค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์และครอบครัว มิได้ใช้สำหรับงานในกิจการของโจทก์ และไม่ได้ใช้เพื่อดูแลทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการโดยเฉพาะ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวที่มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ซึ่งนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ตาม ป.รัษฎากรณ 65 ตรี (3) และ (13)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่เป็นเจ้าพนักงานประเมินในส่วนที่พิจารณาให้ค่าไฟฟ้าที่มีชื่อบุคคลธรรมดาผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลของสำนักงานสรรพากรจังหวัดพิษณุโลกที่ 7650010/2/100258 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 จำนวนเงิน 37,418.60 บาท และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่กระทำโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เลขที่ พล.0001/2/2545 ที่วินิจฉัยในส่วนรายจ่ายที่เห็นชอบตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความเนื่องจากโจทก์มิได้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งให้ถือว่าค่าไฟฟ้าตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่เป็นชื่อของนางจำรัส เป็นเงิน 37,418.60 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฎหมาย จึงชอบด้วยเหตุผลชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้ถือรายจ่ายค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์ของนางจำรัสจำนวนร้อยละ 50 เป็นเงิน 37,418.60 บาท เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า “รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ…(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว…(13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ” หมายความว่า รายจ่ายที่จะนำมาคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิได้นั้นต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว เห็นว่า ค่าไฟฟ้าสำหรับมิเตอร์ชื่อนางจำรัส ส่วนที่ใช้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หุ้นส่วนของโจทก์และครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารสถานประกอบการของโจทก์นั้น เป็นค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์และครอบครัว มิได้ใช้สำหรับงานในกิจการของโจทก์ และไม่ได้ใช้เพื่อดูแลทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของโจทก์จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวที่มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะซึ่งนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แต่เมื่อรายจ่ายค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์ของนางจำรัสนั้นมีรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวระคนปนกับรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ชัดเจนว่ารายจ่ายส่วนใดมีจำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้วิธีปันส่วนโดยแบ่งค่าไฟฟ้าให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 50 นั้น นับว่าถูกต้องสมควรและเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) นั้นต้องพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ทั้งจำนวน เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินโดยแบ่งปันเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะเพียงร้อยละ 50 จึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามนำมาคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี หรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ผู้รับรายจ่าย ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานในการจ่ายประกอบด้วย ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไปว่ารายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ จำนวนเท่าใด ตามความเป็นจริง ไม่จำต้องถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทั้งจำนวนตามที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน