แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 306 ได้บัญญัติถึงวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องไว้ว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเอกสารหมาย จ.7 เป็นหลักฐานที่อ้างว่าธนาคาร ด. ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร ด. มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความระบุถึงหนี้ที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องกันไว้แต่เพียงว่า “รายละเอียดของสัญญาสินเชื่อและสัญญาหลักประกันที่ธนาคารได้โอนให้ผู้รับโอน รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะสัญญาและเอกสารดังกล่าวต่อไปนี้” ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่อาจเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงหนี้สินเชื่อประเภทใดบ้าง เพียงแต่มีข้อความต่อไปว่า “หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2537” มิได้มีข้อความใดกล่าวถึงหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจแปลความหมายได้ว่า ข้อความดังกล่าวรวมถึงหนี้ตามฟ้องด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,584,394.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,286,940.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจำเลยตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทจากธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) อันจะเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ได้บัญญัติถึงวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องไว้ว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเอกสารหมาย จ.7 เป็นหลักฐานที่อ้างว่าธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์แล้ว จึงมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 หรือไม่ ในเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวมีข้อความในหน้าแรกกล่าวถึงการที่ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนกรรมสิทธิ์สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อที่จำเลยทำไว้แก่ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ และในหน้า 3 มีข้อความว่า “เพื่อให้การโอนสิทธิตามสัญญาสินเชื่อเป็นไปโดยถูกต้องและสมบูรณ์ตามกฎหมาย ธนาคารจึงได้จัดทำหนังสือโอนสิทธิฉบับนี้ขึ้น และได้จัดส่งมายังท่าน…” และในตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวได้มีผู้ลงลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมโกลบอลไทย พร๊อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนคือโจทก์ไว้ เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดและพิจารณาถึงเจตนาของคู่สัญญาแล้ว ฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.7 เป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความระบุถึงหนี้ที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องกันไว้แต่เพียงว่า “รายละเอียดของสัญญาสินเชื่อและสัญญาหลักประกันที่ธนาคารได้โอนให้ผู้รับโอน รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะสัญญาและเอกสารดังกล่าวต่อไปนี้” ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่อาจเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงหนี้สินเชื่อประเภทใดบ้าง เพียงแต่มีข้อความต่อไปว่า “หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2537” มิได้มีข้อความใดกล่าวถึงหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจแปลความได้ว่า ข้อความดังกล่าวรวมถึงหนี้ตามฟ้องด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.