คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไปและศาลแรงงานมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลเมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีโจทก์แล้วสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดตามมาตรา 37 เพื่อที่ศาลจะได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์และจำเลยตกลงกันตามมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดอื่นหลังจากนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 200 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ได้นัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา โดยสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดด้วย ต่อมาโจทก์และจำเลยก็มาศาลตามวันเวลานัดดังกล่าว และศาลทำการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2549 เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลจดประเด็นข้อพิพาทไว้ตามมาตรา 39 แล้วสืบพยานโจทก์ จากนั้นจึงนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 แต่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยมิใช่เป็นการไม่มาศาลตามมาตรา 37 เพราะขั้นตอนต่างๆ ตามมาตรา 37, 38, 39 ผ่านพ้นไปแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ และกรณีดังกล่าวมิใช่การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานที่จะถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาและศาลจะมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200, 202 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบดังกล่าวเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเลขานุการ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 60,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลแรงงานกลางจึงให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 27 เมษายน 2549 เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ ทนายโจทก์ และทนายจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางจดประเด็นข้อพิพาทแล้วสืบพยานโจทก์ 1 ปาก โจทก์แถลงหมดพยาน ศาลแรงงานกลางจึงให้นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยและทนายจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ศาลแรงงานกลางจึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า คำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ของศาลแรงงานกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไปและศาลแรงงานมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลเมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีโจทก์แล้วได้สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดตามมาตรา 37 เพื่อที่ศาลจะได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันตามมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดอื่นหลังจากนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์แล้วได้นัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา โดยศาลได้สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดด้วย ซึ่งต่อมาโจทก์และจำเลยก็ได้มาศาลตามวันเวลานัดดังกล่าวและศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2549 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลได้จดประเด็นข้อพิพาทไว้ตามมาตรา 39 แล้วสืบพยานโจทก์ จากนั้นจึงได้นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา แต่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยมิใช่เป็นการไม่มาศาลตามมาตรา 37 เพราะขั้นตอนต่าง ๆ ตามมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ และกรณีดังกล่าวมิใช่การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานที่จะถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาและศาลจะมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 และมาตรา 202 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบดังกล่าวเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาต่อไปตามรูปคดี.

Share