คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ 9 ข้อ โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนและเป็นการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างตลอดไปตรวจที่ยังคงทำงานกับโจทก์หรือมีหนี้สินค้างชำระ ก็เป็นเงื่อนไขทั่วไปตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนในข้อ 6 ระบุให้ผู้ค้ำประกันไม่ยกข้อต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นความรับผิดกรณีที่โจทก์กระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเรื่องจำนอง จำนำ บุริมสิทธิ ดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 697 หรือสละสิทธิในการยกอายุความขึ้นต่อสู้ ก็เป็นการทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันคดีนี้มิได้มีส่วนเกี่ยวกับสัญญาในข้อ 6 ส่วนสัญญาข้ออื่นนอกจากนี้มิได้มีผลให้จำเลยที่ 2 รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตามสัญญาข้ออื่นก็เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,296,840 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,296,840 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจจึงไม่อาจรับฟังหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งนายสามารถและนายทิวากรรมการสองในห้าลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้นายปิยะณัฐฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองปรากฏว่าปิดอากรแสตมป์สามสิบบาทและมีรอยหมึกขีดฆ่าสองรอยที่อากรแสตมป์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เห็นเป็นข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า คดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จะยกข้อต่อสู้ว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแรงงานหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 จะต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะได้พิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไว้ในคำให้การจึงเป็นการยอมรับในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันไว้ 9 ข้อ โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนและเป็นการค้ำประกันการทำงานของลูกค้าตลอดไปตราบที่ยังคงทำงานกับโจทก์หรือมีหนี้สินค้างชำระก็เป็นเงื่อนไขทั่วไปตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนการระบุในสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล ข้อ 6 ให้ผู้ค้ำประกันไม่ยกข้อต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นความรับผิดกรณีที่โจทก์กระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเรื่องจำนอง จำนำ บุริมสิทธิ ดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 หรือสละสิทธิในการยกอายุความขึ้นต่อสู้ ก็เป็นการทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 คดีนี้มิได้มีส่วนเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลข้อ 6 เมื่อข้อสัญญาอื่นนอกจากข้อ 6 นี้มิได้มีผลให้จำเลยที่ 2 รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตามสัญญาข้ออื่นก็เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share