แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แทนโจทก์พร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และให้จำเลยนำส่งให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน หากส่งไม่ได้ให้จำเลยแถลงภายใน 7 วัน เมื่อคำแถลงของจำเลยมีข้อความประทับว่า “ให้มาทราบคำสั่งถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบแล้ว” และทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าว แม้ทนายจำเลยจะไม่มาทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งที่ศาลได้สั่งในคำแถลงและในอุทธรณ์ของจำเลยโดยชอบแล้ว ทั้งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ โดยศาลไม่จำต้องแจ้งผลของการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ศาลชั้นต้นมีอำนาจกำหนดวิธีการส่งหมายได้ แม้ว่าในคำแถลงของจำเลยจะขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมายก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีธรรมดาก่อน เท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมายตามที่จำเลยขอ กรณีหาเป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่า ได้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์แล้ว แต่ส่งไม่ได้ แต่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 7 วัน ตามคำสั่งศาล จึงถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,658,783 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,543,054.08 บาท นับถัดจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์แก้ ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545
วันที่ 24 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานศาลรายงานว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รอจำเลยแถลง ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าจำเลยมิได้ยื่นคำแถลงแต่ประการใด ศาลชั้นต้นให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยออกจากสารบบความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มีกำหนด 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2545 และมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยว่า “รอสั่งเมื่อวางเงิน” หลังจากนั้นจำเลยได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ออกไปอีก ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2545 จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียม ซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์พร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ว่า “สั่งในอุทธรณ์” และมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันว่า “รับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์แก้ ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน” เมื่อคำแถลงของจำเลยฉบับดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2545 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” และทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าว แม้ทนายจำเลยจะไม่มาทราบคำสั่งก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำแถลงและในอุทธรณ์ของจำเลยโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2545 ทั้งมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โดยศาลไม่จำต้องแจ้งผลการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก และแม้ในคำแถลงฉบับดังกล่าวจำเลยจะขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย แต่ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการส่งหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 ได้ และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีธรรมดาก่อนนั้นเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมายตามที่จำเลยขออยู่ในตัว กรณีหาใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งตามคำแถลงของจำเลยหรือดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังที่จำเลยอ้างไม่ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่าได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2545 แต่ส่งให้ไม่ได้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ว่า “รอจำเลยแถลง” แต่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน