คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองบัญญัติว่า สิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียนสิทธิต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วตามความในมาตราดังกล่าว โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งมีชื่อ จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 23 โฉนด เพื่อบังคับตามคำพิพากษาระหว่างบังคับคดี ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 23 โฉนด โดยการครอบครองปรปักษ์เช่นกัน ดังนี้มิใช่เรื่องฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 เพราะคำร้องขัดทรัพย์เป็นเรื่องผู้ร้องพิพาทกับโจทก์และมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จะปล่อยทรัพย์ที่ยึดหรือไม่ ส่วนคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลย มิได้ฟ้องโจทก์ด้วยทั้งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 23 โฉนด เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องหรือไม่ ไม่ชอบที่ศาลจะสั่งงดสืบพยานของผู้ร้องแล้วพิพากษายกคำร้องเสียสมควรฟังข้อเท็จจริงต่อไปให้สิ้นกระแสความก่อน.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรวม 23 โฉนด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินทั้ง 23 โฉนดเป็นของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งธนบุรี ขอให้พิพากษาว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในคดีนี้
โจทก์ให้การว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 23โฉนด เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนการได้มา ย่อมไม่สามารถยกให้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฎเรื่องราวตามสำนวนเดิมว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรพย์ที่ยืดคือที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2521 อ้างว่า จำเลยขายที่ดินทั้งหมดแก่ผู้ร้องแต่ทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการจำนองที่ดินกับนางสาวเอิบสิริคุณวิศาล คดีถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนด ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 26 สิงหาคม 2523ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคือที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนด อ้างว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดให้ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นให้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนสืบพยาน ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า ศาลฎีกาพิพากษาคดีแล้วผู้ร้องไม่ประสงค์จะร้องขัดทรัพย์ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2525 ระหว่างนางสาวน้ำทอง คุณวิศาล (ผู้ร้อง) โจทก์ที่ 1 นางสาวเอิบสิริ คุณวิศาลโจทก์ที่ 2 นายพิเศษ คงคาเขตร จำเลย ว่าศาลฎีกาพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่าการซื้อขายที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นโมฆะ หลังจากนั้นผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดให้ครั้งนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดมาตั้งแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดิน จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งธนบุรี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิในที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดดังกล่าวแล้ว
พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ผู้ร้องจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382และมีคำพิพากษารับรองก็เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสุจริตไม่ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิมาร้องขัดทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1299 วรรคสองบัญญัติว่า สิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียนสิทธิ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ โจทก์มิได้เป็นผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วมาร้องขัดทรัพย์คดีนี้คำร้องคดีนี้จึงเป็นคำร้องซ้อนกับคำฟ้องของผู้ร้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องผู้ร้องพิพาทกับโจทก์และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจะปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้หรือไม่ ส่วนคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลย มิได้ฟ้องโจทก์ด้วย ทั้งมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินทั้งยี่สิบสามโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องหรือไม่ จึงมิใช่เรื่องฟ้องซ้อน และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 2486/2522 ก็ดี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2525 ก็ดี ได้วินิจฉัยเพียงว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพราะสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะเท่านั้น การที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินทั้งยี่สิบสอมโฉนดมาตั้งแต่วันที่ทำนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการซื้อขายที่ดินคือวันที่ 28 เมษายน 2504เป็นต้นมาจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 เป็นการอ้างเหตุแห่งการได้กรรมสิทธิ์ขึ้นมาใหม่มิใช่อ้างเหตุเดิมจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งงดสืบพยานผู้ร้องและโจทก์แล้วพิพากษายกคำร้องสมควรฟังข้อเท็จจริงต่อไปให้สิ้นกระแสความ ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้ร้องและโจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”.

Share