แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้ก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันเช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้ชำระเงินแก่โจทก์ 159,063.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 100,063.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และให้ชดใช้ค่าเสียหายวันละ 500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันเช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 300,000 บาท และให้ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 21,600 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจำนวน 5 งวด นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้แล้วก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้ คงเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และค่าเสียหายอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ ค่าขาดประโยชน์โจทก์เรียกมาวันละ 500 บาท แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า โจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 4 ประจำวันที่ 15 กันยายน 2543 จนถึงวันฟ้อง (4 กรกฎาคม 2544) เป็นเวลา 9 เดือน 20 วัน และภายหลังจากวันฟ้องต่อไปอีกเป็นเวลา 12 เดือน รวม 21 เดือน 20 วัน คิดเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 130,000 บาท ส่วนที่โจทก์เรียกราคารถมา 450,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนรถคันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ได้นั้น เห็นว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อรถคันพิพาทเป็นรถที่ใช้แล้ว และย่อมชำรุดทรุดโทรมตามสภาพของการใช้งาน ราคาที่โจทก์เรียกมาจึงสูงเกินส่วน ทั้งปรากฏตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เห็นชอบด้วยกับราคารถยนต์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดราคารถยนต์ให้เป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 300,000 บาท และให้ร่วมกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี.