แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นหัวหน้าสินเชื่อมีหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง ตรวจสอบ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ แบบแผน คำสั่ง และวิธีปฏิบัติของธนาคารจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยให้มีการปล่อยสินเชื่อไปอย่างเร่งรีบ ไม่ตรวจสอบการวิเคราะห์สินเชื่อและผ่านงานเสนอขออนุมัติสินเชื่อไปโดยไม่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบให้รอบคอบ การปล่อยสินเชื่อโครงการมีการตีราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริง งดเว้น ละเลย ไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องตรงตามระเบียบของธนาคารจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเกิดหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่มีพฤติการณ์ว่าโจทก์ตั้งใจหรือเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บุคคลเป็นพิเศษ แต่การทำงานที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และทำงานผิดพลาดของโจทก์เช่นนี้ ย่อมมีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายหรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ พ. 145/2544 และที่ พ. 31/2545 และขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยมีตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าตำแหน่งและเงินเดือนครั้งสุดท้ายของโจทก์เสมือนหนึ่งโจทก์มิได้ถูกคำสั่งให้ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินเดือนตั้งแต่ถูกเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 223,458 บาท และหลังจากวันฟ้องถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมทั้งให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสของปี 2544 จำนวน 4.5 เท่าของเงินเดือน เป็นเงิน 97,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ พ. 145/2544 และคำสั่งที่ พ.31/2545 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างเป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสินเชื่อที่ธนาคารจำเลยสาขาลำปาง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่ธนาคารจำเลย สาขาลำปาง ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,600 บาท จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2544 ตามคำสั่งที่ พ. 145/2544 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ พ. 31/2545 ตามเอกสารหมาย ล.51 ให้ยืนตามคำสั่งเดิม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ พ. 145/2544 และที่ พ. 31/2545 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ พ. 145/2544 ฝ่ายตรวจสอบของจำเลยได้ไปตรวจสอบที่ธนาคารจำเลยสาขาลำปางแล้วทำบันทึกเสนอกรรมการผู้จัดการจำเลยว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจำเลยสาขาลำปางในโครงการพิมานธานีน่าจะมีความผิดพลาด 2 ประการ คือมีการใช้พนักงานผิดประเภทไปประเมินราคาที่ดินของโครงการ และมีการสรุปวิเคราะห์สินเชื่อผิดพลาดทำให้เกิดหนี้ค้างชำระจำนวนมาก จำเลยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ พ. 171/2541 คณะกรรมการดังกล่าวได้ไปสอบสวนข้อเท็จจริงที่ธนาคารจำเลยสาขาลำปาง โดยสอบพนักงานธนาคารและตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วสรุปข้อเท็จจริงทำรายงานแก่จำเลยว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจำเลยสาขาลำปาง ในโครงการพิมานธานีได้มีการทำผิดระเบียบวิธีปฏิบัติของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยพนักงานธนาคารจำเลยสาขาลำปางจำนวน 4 คน คือโจทก์ นายบรรพต ธีระชาญณรงค์ นางบุษกร อู่เงิน และนางรุจา สุพรหมมา คณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยทำการสอบสวนเสร็จแล้วได้ทำบันทึกเสนอจำเลยว่าโจทก์ละเลยขาดความระมัดระวังในการพิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อปล่อยให้มีการสรุป วิเคราะห์ และผ่านงานเสนอขออนุมัติปล่อยสินเชื่อด้วยความเร่งรีบไม่เป็นไปตามระเบียบ แบบแผน คำสั่ง และวิธีปฏิบัติของธนาคารจำเลย ทำให้ธนาคารจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2544 ตามคำสั่งที่ พ. 145/2544 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่จำเลยมีคำสั่งที่ พ. 31/2545 ให้ยืนตามคำสั่งเดิม เห็นว่า โจทก์เป็นหัวหน้าสินเชื่อมีหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง ตรวจสอบ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ แบบแผน คำสั่ง และวิธีปฏิบัติของธนาคารจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยให้มีการปล่อยสินเชื่อไปอย่างเร่งรีบ ไม่ตรวจสอบการวิเคราะห์สินเชื่อและผ่านงานเสนอขออนุมัติสินเชื่อไปโดยไม่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบให้รอบคอบ อีกทั้งโจทก์ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อโครงการพิมานธานีมีการตีราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริง และยอมรับว่าโจทก์ได้งดเว้น ละเลย ไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องตรงตามระเบียบของธนาคารจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเกิดหนี้ค้างชำระจำนวนมาก แม้จะไม่มีพฤติการณ์ว่าโจทก์ตั้งใจหรือเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดเป็นพิเศษ แต่การทำงานที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำงานผิดพลาดของโจทก์เช่นนี้ ย่อมมีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายหรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ พ. 145/2544 และคำสั่งที่ พ. 31/2545 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์