แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเช่าระบุว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์คือผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่า เมื่อผู้เช่าได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว หากผู้เช่าทำหนังสือถึงผู้ให้เช่าจะขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมด ผู้ให้เช่าจะทำคำสนองตกลงราคาตามที่กำหนดในสัญญาแสดงให้เห็นว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่โอนไป จำเลยที่ 1 ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 118 ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนรวมเป็นเงิน 1,461,278.67 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 730,015 บาท และค่าขาดประโยชน์จำนวน 558,105 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์รายเดือนรวมเป็นจำนวนเงินเดือนละ 100,450 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าส่งมอบทรัพย์หรือใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ครบถ้วนและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเบี้ยปรับจากการชำระค่าเช่าล่าช้าแก่โจทก์จำนวน 1,566 บาท
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์และจำเลยทั้งสามได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มต่อท้ายสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 และหมายเลข 15 ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มต่อท้ายสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ลงวันที่ 7 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันเดียวกับสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกข้อตกลงเพิ่มต่อท้ายสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันเดียวกับสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.9 ดังนั้นต้องถือว่าบันทึกข้อตกลงเพิ่มต่อท้ายสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 และหมายเลข 15 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.9 ตามลำดับ ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มต่อท้ายทั้งสองฉบับ ข้อ 1 ระบุว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์คือผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่า เมื่อผู้เช่าได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว หากผู้เช่าทำหนังสือถึงผู้ให้เช่าจะขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมด ผู้ให้เช่าจะทำคำสนองตกลงราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา แสดงให้เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าก็ยังไม่โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของโจทก์โดยทำคำเสนอซื้อทรัพย์สินที่เช่าซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกหมาย จ.5 และ จ.9 จึงเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ที่ศาลล่วงทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนประเด็นต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปยังศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยก่อน เห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้วจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์ทั้ง 4 รายการ ตามสัญญาเช่าหมาย จ.5 และ จ.9 ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน สำหรับเครื่องทำเอ็ฟเฟ็ค รุ่นบีเคดีเอฟ 501 พี ตามสัญญาเช่าหมาย จ.5 เป็นเงิน 440,749 บาท สำหรับเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องเล่นเสียง ระบบเบต้าแครม ยื่ห้อโซนี่ จำนวน 3 ชุด ตามสัญญาเช่าหมาย จ.9 เป็นเงิน 1,020,207.33 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าค้างชำระเป็นค่าเช่าค้างชำระเป็นค่าขาดประโยชน์สำหรับเครื่องทำเอ็ฟเฟ็ค รุ่นบีเคดีเอฟ 501 พี จำนวน 67,875 บาท สำหรับเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องเล่นเสียง ระบบเบต้าแครม ยี่ห้อโซนี่ จำนวน 3 ชุด ตามสัญญาเช่าหมาย จ.9 เป็นเงิน 3,555 บาท รวมเป็นค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 71,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าเช่าค้างชำระของทรัพย์แต่ละรายการนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 พฤศจิกายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์