แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ต่อมาถูกลงโทษทางวินัย ฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและยังมิได้มีมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ร้อง ต้องถือว่าคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้น ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 109 (6)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย และได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร แต่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร แจ้งว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร รับผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานแล้วผู้ร้องเคยถูกลงโทษทางวินัย ฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ แม้คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดก็ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 109 (6) ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดพิจารณา ศาลฎีกาสอบข้อเท็จจริงคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้แย้งกันว่า ผู้ร้องยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสกลนคร ภายหลังผู้คัดค้านประกาศรายชื่อผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่มีชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในประกาศของผู้คัดค้านดังกล่าว ผู้ร้องเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ต่อมาผู้ร้องถูกลงโทษทางวินัยฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 1 ที่ 548/2546 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 700/2541 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ปัจจุบันการดำเนินการทางวินัยดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุด เห็นว่า เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และยังมิได้มีมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ร้อง ต้องถือว่าคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้น ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 109 (6) การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้นชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง