คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุว่า ในขณะทำสัญญานี้ ผู้รับจ้างได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร น. จำนวนเงิน 167,324 บาท มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันนี้ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว และข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร ส่วนหนังสือค้ำประกันระบุว่า ธนาคารยอมผูกพันชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 167,324 บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจึงเป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญา ทั้งตามหนังสือค้ำประกันก็จำกัดวงเงินสูงสุดไว้ มิใช่ว่าธนาคารจะต้องผูกพันชำระเงินเต็มจำนวนตามหนังสือค้ำประกันเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความเสียหายหรือจำนวนค่าปรับรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ว่ามีเพียงใด จำนวนเงินที่ริบจึงไม่แน่นอนตายตัว การริบเงินดังกล่าวจึงมิใช่การริบในลักษณะที่เป็นมัดจำแต่เป็นการริบในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ โดยเฉพาะสัญญาข้อ 17 ก็ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับค่าปรับหรือค่าเสียหายเอาจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น แม้เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจะเป็นการประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาหรือสัญญาสิ้นสุดลงด้วยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตามก็ต้องถือว่าเป็นการประกันในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่นเดียวกับค่าปรับรายวัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบถังกรองไร้อากาศ 1 แห่ง ณ โรงพยาบาลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเงิน 3,346,472 บาท เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 กันยายน 2537 กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 28 เมษายน 2538 แบ่งงานก่อสร้างเป็น 5 งวด จ่ายเงินตามงวดงาน หากจำเลยก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดยอมให้ค่าปรับวันละ 3,347 บาท จำเลยก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 เรียบร้อย แต่ก่อสร้างงานงวดที่ 2 ล่าช้า โดยก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไปแล้วประมาณร้อยละ 40 ก่อสร้างระบบระบายน้ำเสียไปแล้วประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยให้เร่งรัดการก่อสร้างและสงวนสิทธิเรียกค่าปรับ จำเลยก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย แต่หลังจากนั้นจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ 3 ถึงงวดที่ 5 โจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยว่าจะก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จหรือไม่ จำเลยมีหนังสือยืนยันว่าจะก่อสร้างต่อไป และยินยอมเสียค่าปรับตามสัญญา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยชำระเงินค่าปรับเป็นเวลา 193 วัน วันละ 3,347 บาท เป็นเงิน 645,971 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 645,971 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับโจทก์จริง แต่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่รับรองว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีให้ทำสัญญาแทนได้เหตุที่งานล่าช้าเป็นเพราะโจทก์ให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแบบการก่อสร้างผิดไปจากแบบที่กำหนด ทำให้จำเลยทำงานไม่เสร็จตามสัญญา งานที่จำเลยก่อสร้างเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ของงานทั้งหมด ค่าปรับที่โจทก์เรียกร้องวันละ 3,347 บาท สูงมากโจทก์เรียกได้อย่างมากไม่เกินวันละ 1,500 บาท ทั้งจำเลยชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ไปแล้ว 254,372 บาท และโจทก์ยังริบเงินหลักประกันที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือค้ำประกันไปอีก 167,324 บาท จำเลยแจ้งให้โจทก์บอกเลิกสัญญาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 แต่โจทก์กลับบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2539 ทำให้ค่าปรับสูงเกินความเป็นจริง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 2 ปี นับแต่จำเลยผิดสัญญา คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 478,647 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายประการเดียวว่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้หักเงิน 167,324 บาท ตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารออกจากเงินค่าปรับที่จำเลยต้องรับผิด คงให้จำเลยชำระเงินในส่วนที่ขาดนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3 มิได้กำหนดให้หนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นเบี้ยปรับ ทั้งการกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างในการบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 5 และข้อ 6 ไม่เพียงแต่กำหนดให้เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันการไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาหรือสัญญาสิ้นสุดลงด้วย เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ และโจทก์มีสิทธิริบเงินตามสัญญาค้ำประกัน การหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินค่าปรับจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3 ระบุว่า ในขณะทำสัญญานี้ ผู้รับจ้างได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 167,324 บาท มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันนี้ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้วและข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร ส่วนหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า ธนาคารยอมผูกพันชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 167,324 บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกัน เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจึงเป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาทั้งตามหนังสือค้ำประกันก็จำกัดวงเงินสูงสุดไว้ มิใช่ว่าธนาคารจะต้องผูกพันชำระเงินเต็มจำนวนตามหนังสือค้ำประกันเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความเสียหายหรือจำนวนค่าปรับรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ว่ามีเพียงใด จำนวนเงินที่ริบจึงไม่แน่นอนตายตัว การริบเงินดังกล่าวจึงมิใช่การริบในลักษณะที่เป็นมัดจำ แต่เป็นการริบในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ โดยเฉพาะสัญญาข้อ 17 ก็ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับค่าปรับหรือค่าเสียหายเอาจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น แม้เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจะเป็นการประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาหรือสัญญาสิ้นสุดลงด้วยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นการประกันในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่นเดียวกับค่าปรับรายวันนั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองให้หักเงิน 167,324 บาท ตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้วออกจากเงินค่าปรับที่จำเลยต้องรับผิด จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share