แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 นั้นต้องถือเอาตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียวกันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลยเองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากัน อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 157, 158 ให้จำเลยคืนเงินหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เบียดบังเอาไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,744,787.20 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 158 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 55 กระทง จำคุก 165 ปี 220 เดือน แต่ทั้งนี้จะลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงจำคุก 50 ปี ให้จำเลยคืนเงินหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เบียดบังไปจำนวน 1,744,787.20 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี มีอายุความ 20 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี มีอายุความ 15 ปี และฐานเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 เมื่อระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2528 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 เมื่อระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งแม้จะเป็นเวลาล่วงเลยมาแล้ว 14 ปีเศษ ก็ตาม แต่ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้นต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้ได้ความเป็นยุติว่า จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยรับราชการตำรวจมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่ กองทะเบียน กรมตำรวจ ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับชำระเงินค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ จำเลยได้เบิกใบเสร็จรับเงินจากสารวัตรแผนกทะเบียนรถยนต์ รวม 4 ครั้ง จำนวน 250 เล่ม ต่อมาเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบ ปรากฏว่ามีการนำใบเสร็จรับเงินไปใช้และนำเงินส่งทางราชการถูกต้องเพียง 107 เล่ม ส่วนใบเสร็จรับอีก 143 เล่ม ได้หายไป จำเลยไม่มีหลักฐานให้ตรวจสอบ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในสมุดใบเสร็จจำนวน 143 เล่ม ที่หายไปและอยู่ในความครอบครองของจำเลยพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไปใช้ในการรับเงินค่าแผ่นป้ายทะเบียนแล้วนำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนรวม 55 ครั้งตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องซึ่งเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน เห็นว่า แม้การกระทำผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียวกันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลยเองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากันอันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกันนั่นเอง จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปจึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน