คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีองค์คณะ 2 คน พิพากษาคดีโดยถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาคนหนึ่งว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากเป็นคำพิพากษา และถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาอีกคนว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้องซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่าเป็นความเห็นแย้ง เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 184 กรณีจึงต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173, 174, 175, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173, 174 ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคนหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานบุกรุกนั้น ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173, 174 สมควรพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและทำคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมี 2 คน การวินิจฉัยเพื่อทำคำพิพากษาต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่บัญญัติว่า “ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษา… การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า” การประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าผู้พิพากษาคนหนึ่งมีความเห็นว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลย แต่ผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งมีความเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่มีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายและจะหาเสียงข้างมากมิได้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากต้องยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้อง ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า โดยต้องพิพากษายกฟ้อง และให้ความเห็นที่ว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยเป็นความเห็นแย้ง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นถือเอาความเห็นที่จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากเป็นคำพิพากษา และถือเอาความเห็นที่ว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้องซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่าเป็นความเห็นแย้ง จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ดังกล่าว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ยกฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์และจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ดังกล่าว เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ดังนี้จึงต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษายกฟ้องตามความเห็นของผู้พิพากษาซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า ส่วนความเห็นของผู้พิพากษาที่ว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากเป็นความเห็นแย้ง ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลย แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ยกฟ้อง ส่วนความเห็นของผู้พิพากษาที่ว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยเป็นความเห็นแย้ง เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547 และให้ถือว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกานี้เป็นการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย เพื่อให้คู่ความใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาให้ถูกต้องต่อไป

Share