แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น จำเลยทั้งสองซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ไว้ใต้เบาะที่นั่งในรถยนต์ของกลาง และเก็บเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด กับเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง ของกลางในกระเป๋าที่กระโปรงหลังรถยนต์ของกลางเท่านั้น จำเลยทั้งสองหาได้ดัดแปลงสภาพรถยนต์ของกลางทั้งสองคันเพื่อจะซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใดไม่ รถยนต์ของกลางทั้งสองคันจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรงอันจะพึงริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน เฮโรอีน กระเป๋าสะพาย และรถยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) (ที่ถูกวรรคหนึ่งด้วย), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา แต่เมื่อพิจารณายาเสพติดให้โทษที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองแล้ว ไม่สมควรลดโทษโดยอาศัยเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ริบเมทแอมเฟตามีน เฮโรอีน กระเป๋าสะพาย รถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกรรมเดียว ลงโทษประหารชีวิต ให้ยกคำขอริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร โดยให้คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่เจ้าของ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 300,000 เม็ด น้ำหนักรวม 27,858.95 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6,980.61 กรัม และเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง น้ำหนักรวม 3,369 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2,626.136 กรัม รถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกปรีชา สมสถาน และจ่าสิบตำรวจสุรสิทธิ์ เทียมครู ผู้จับกุม กับนางวันดีมาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ในวันที่ 17 เมษายน 2545 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา พยานผู้จับกุมทั้งสองได้จับกุมนางวันดีได้พร้อมกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ด จาการสอบถามนางวันดียอมรับว่านางวันดีได้เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 ร้อยตำรวจเอกปรีชาจึงให้นางวันดีติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ตกลงจะขายและนัดหมายให้นางวันดีไปรอรับเมทแอมเฟตามีนที่บริเวณลานจอดรถยนต์ในวัดที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร เข้ามาในวัดที่เกิดเหตุและจอดรถใกล้ศาลาตั้งศพโดยมีจำเลยที่ 2 นั่งมาภายในรถคันดังกล่าวด้วย ร้อยตำรวจเอกปรีชากับพวกไปที่รถยนต์ดังกล่าวแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5,000 เม็ด ซึ่งซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะที่จำเลยที่ 2 นั่ง จากนั้นจำเลยทั้งสองได้นำร้อยตำรวจเอกปรีชากับพวกไปตรวจค้นที่บ้านที่เกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 1 รับว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือซุกซ่อนอยู่อีก ซึ่งผลการตรวจค้นที่กระโปรงท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด และเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง ของกลาง โดยจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เห็นว่า การจับกุมจำเลยทั้งสองสืบเนื่องจากการที่ร้อยตำรวจเอกปรีชาจับกุมนางวันดีได้พร้อมกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ด ในคืนวันที่ 17 เมษายน 2545 ตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.15 เมื่อสอบถามนางวันดีเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว นางวันดีรับว่าได้รับมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งตามทางสืบสวนของร้อยตำรวจเอกปรีชาสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นภรรยาคนหนึ่งของนายอรุณ ขาวประเสริฐ ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยา ร้อยตำรวจเอกปรีชาจึงให้นางวันดีใช้โทรศัพท์ของนางวันดีซึ่งยึดไว้เป็นของกลางติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยึดเป็นของกลางคดีนี้ จำเลยที่ 1 ก็ได้นัดหมายให้นางวันดีไปรับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ที่ลานจอดรถวัดที่เกิดเหตุในวันดังกล่าวเวลา 12 นาฬิกา และจำเลยที่ 1 ก็ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร มาพร้อมกับจำเลยที่ 2 โดยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ตามจำนวนที่ตกลงจะนำมาจำหน่ายให้นางวันดีซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะที่จำเลยที่ 2 นั่ง ภายหลังจากจับกุมจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ยังรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนที่เหลืออยู่ในบ้านที่เกิดเหตุและนำร้อยตำรวจเอกปรีชากับพวกไปตรวจค้นที่บ้านเกิดเหตุ ซึ่งผลการตรวจค้นก็พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด และเฮโรอีนของกลางที่กระโปรงท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมว่าได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางทั้งหมดมาจากนายจำนง เมียน ชาวกัมพูชา ที่จังหวัดหนองคาย โดยจำเลยทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภอ 5218 กรุงเทพมหานคร และเมื่อเดินทางมาถึงบ้านที่เกิดเหตุก็จอดรถยนต์คันดังกล่าวแล้วนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ใส่ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน วข 1794 กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าที่บริเวณลานจอดรถวัดที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 เดินทางมากับจำเลยที่ 2 ปรากฏรายละเอียดตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.16 คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากและเอกสารที่ตรวจยึดได้จากกระเป๋าของจำเลยที่ 1 อันได้แก่ใบเสร็จรับเงินของโรงแรมโรเยลหนองคาย และนามบัตรระบุชื่อของนายจำนง เมียน ซึ่งเป็นการยากที่พยานผู้จับกุมจะปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นเองโดยที่มิได้รับฟังข้อเท็จจริงมาจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ในชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองก็เบิกความรับว่าไม่รู้จักกับเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าจับกุม และไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ทำร้ายจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีข้อระแวงว่าผู้จับกุมจะกลั่นแกล้งให้ร้ายจำเลยทั้งสอง เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โจทก์ยังมีพันตำรวจโทพิษณุ กิ่งแก้ว พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.33 และ จ.34 ซึ่งเป็นบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 และนางวันดี ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมยึดได้จากจำเลยที่ 1 และนางวันดีว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ทั้งสองเครื่องดังกล่าว ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์ทั้งสองเครื่องติดต่อกันจริง ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และนางวันดีรู้จักกันดี หาใช่ไม่ได้รู้จักกันดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบไม่ ทั้งยังสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานผู้จับกุมทั้งสองและนางวันดีที่ว่า ร้อยตำรวจเอกปรีชาให้นางวันดีโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาเมื่อฟังประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุม ซึ่งแม้จากการสืบสวนก่อนจับกุมจะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดให้โทษก็ตาม พยานโจทก์ก็ยังคงมีน้ำหนักเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดดังฟ้องจริง ข้ออ้างต่าง ๆ ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า แม้เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนจะเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก็ตาม แต่เป็นยาเสพติดให้โทษคนละชนิดและคนละลำดับกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า แม้เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางจะเป็นยาเสพติดคนละชนิดและคนละลำดับดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็ล้วนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นกัน ถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองมียาเสพติดให้โทษของกลางทั้งสองชนิดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด กับเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการมีไว้ในครอบครองคนละคราวและคนละสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 300,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีน จำนวน 10 แท่ง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า รถยนต์ของกลางทั้งสองคันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรง จึงเป็นทรัพย์สินที่พึงริบนั้น เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติก็ได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสองซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ไว้ใต้เบาะที่นั่งในรถยนต์ของกลาง และเก็บเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด กับเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง ของกลางในกระเป๋าที่กระโปรงหลังรถยนต์ของกลางนั้น จำเลยทั้งสองหาได้ดัดแปลงสภาพรถยนต์ของกลางทั้งสองคันเพื่อจะซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใดไม่ รถยนต์ของกลางทั้งสองจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรง อันจะพึงริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ไม่ริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคันชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2