แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2529 โดยมีหลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องแสดงต่อศาลคือ สำเนาทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรค สำเนาบัตรประจำตัวสมาชิก และบันทึกผลการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง แต่ในสมุดทะเบียนสมาชิกพรรค ปรากฏว่าชื่อผู้ร้องมีรอยลบข้อความเดิม แล้วเขียนชื่อผู้ร้องขึ้นใหม่ โดยใช้หมึกที่แตกต่างจากชื่ออื่น และลายมือเขียนก็เป็นของคนละคนกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องเช่นนั้น และมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด นับเป็นข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อเท็จจริงการเป็นสมาชิกพรรค ป. ของผู้ร้อง แม้ผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปรากฏว่ามีเพียง 5 ราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้องที่ไม่มีเอกสารใบสมัครสมาชิก ทะเบียนสมาชิก หรือบัตรสมาชิกพรรคก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่อาจรับฟังได้ว่า พรรค ป. ได้รับผู้ร้องเป็นสมาชิกวันที่ 8 มกราคม 2529 จริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง สำหรับบัตรประจำตัวสมาชิกซึ่งผู้ร้องอ้างว่าบัตรเดิมสูญหาย จึงมีการจัดทำบัตรขึ้นใหม่ภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยวันที่ออกบัตร คือ วันที่ 8 มกราคม 2529 นั้น เป็นไปตามทางปฏิบัติของพรรค ป. จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2549 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชากรไทย แต่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา แจ้งว่า ผู้ร้องเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าไม่พบข้อมูลเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ ผู้ร้องได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทย เลขที่สมาชิก 77999 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2529 จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) เนื่องจากไม่พบข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดพิจารณา ผู้คัดค้านไม่มาศาล ศาลฎีกาสอบข้อเท็จจริงจากผู้ร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงให้งดสืบพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549 ผู้ร้องได้ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชากรไทย แต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่รับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) กรณีไม่พบชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้แจ้งต่อนายทะเบียน ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยวันที่ 8 มกราคม 2529 โดยมีหลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องแสดงต่อศาล คือ สำเนาทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรคประชากรไทย สำเนาบัตรประจำตัวสมาชิก และบันทึกผลการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง เอกสารหมาย ร.1, ร.2 และ ร.6 ตามลำดับ แต่ศาลได้ตรวจสอบสมุดทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 หมายเลขสมาชิกพรรค 71818 ถึง 7900 (ที่ถูกเป็น 79000) แล้ว พบว่า ชื่อผู้ร้องอยู่ในหน้า 174 หมายเลข 77999 ชื่อผู้ร้องดังกล่าวมีรอยลบข้อความเดิม แล้วเขียนชื่อผู้ร้องขึ้นใหม่ โดยใช้หมึกที่แตกต่างจากชื่ออื่น และลายมือเขียนก็เป็นของคนละคนกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องเช่นนั้นและมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด นับเป็นข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในการเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยของผู้ร้อง แม้บันทึกผลการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองจะแสดงว่า เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เข้าไปทำการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย และผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปรากฏว่า มีเพียง 5 ราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้องที่ไม่มีเอกสารใบสมัครสมาชิก ทะเบียนสมาชิก หรือบัตรสมาชิกพรรคก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่อาจรับฟังว่า พรรคประชากรไทยได้รับผู้ร้องเป็นสมาชิกวันที่ 8 มกราคม 2529 จริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง สำหรับบัตรประจำตัวสมาชิกพรรคประชากรไทยของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องอ้างว่าบัตรประจำตัวสมาชิกเดิมสูญหาย จึงมีการจัดทำบัตรขึ้นใหม่ภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยนายสุมิตร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยคนปัจจุบันเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ซึ่งการลงวันที่ออกบัตร คือ วันที่ 8 มกราคม 2529 นั้น เป็นไปตามทางปฏิบัติของพรรคประชากรไทย บัตรประจำตัวสมาชิกพรรคประชากรไทยของผู้ร้องดังกล่าว จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยวันที่ 8 มกราคม 2529 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทย ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง