คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4407/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำของบุคคลใดจะเป็นความผิดและต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 35 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบความผิดที่ว่า บุคคลนั้นได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ หรือบุคคลนั้นได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ หรือบุคคลนั้นได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2547 จนปัจจุบัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้าร่วมกันคบคิดเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการการผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาว ตราโพรแลคของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าไวน์สมุนไพรพลูคาว ตราโพรแลคดังกล่าว โดยการนำสูตรการผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาวของโจทก์ทั้งสองมาใช้ผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาวของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันที่บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นที่ทำการสำนักงานของจำเลยที่ 3 โดยผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาวบำรุงสุขภาพออกมาในชื่อตรา ไอ.เอ็ม.ซี ไลฟ์ ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 5 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผยซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มาจากโจทก์ทั้งสองและเป็นการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง แล้วนำออกจำหน่าย ณ สำนักงานเลขที่ 299/19 ซอยลาดพร้าว 101/3 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสำนักงานขายของจำเลยที่ 5 ทำให้เสียหายต่อกิจการค้าและชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดไต่สวนมูลฟ้องระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งห้าซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า คำฟ้องมิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดที่ว่า “เป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ” ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 โดยโจทก์ทั้งสองบรรยายเพิ่มเติมไว้ในคำฟ้องฉบับแก้ไขใหม่หน้าที่ 2 บรรทัดที่ 2 และ 3 กับหน้าที่ 3 บรรทัดที่ 7 และ 8 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นอกจากจะถือว่าเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญของความผิดไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ยังเป็นคำฟ้องที่ศาลไม่อาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ตามมาตรา 161 และโจทก์ทั้งสองเองไม่มีสิทธิที่จะขอแก้ไขคำฟ้องนั้นให้สมบูรณ์ถูกต้องขึ้นใหม่ภายหลังตาม มาตรา 163 และ 164 จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องยกคำร้อง และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งห้านั้น กฎหมายมุ่งที่จะเอาผิดและลงโทษบุคคลผู้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 อันได้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการและมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นเกี่ยวกับความลับทางการค้าด้วยเหตุที่มีหน้าที่ปฏิบัติการดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติตอนท้ายของวรรคหนึ่งในมาตราดังกล่าวที่ยกเว้นความผิดสำหรับกรณีเป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการหรือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีหาใช่เป็นการกระทำของบุคคลอื่นทั่วไปตามที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น การกระทำของบุคคลใดจะเป็นความผิดและต้องรับโทษตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จะต้องมีองค์ประกอบของความผิดที่ว่า บุคคลนั้นได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 หรือบุคคลนั้นได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 หรือเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share