คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนจากจังหวัดศรีสะเกษไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อพวกของจำเลยที่ 2 เพื่อให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปขายที่ประเทศกัมพูชา แต่ยังนำรถยนต์ออกไปไม่ได้จึงนำไปจอดไว้ที่ตลาดอรัญประเทศเพื่อจะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปขาย แต่ยังขายไม่ได้ จึงนำรถยนต์ไปคืนยังจุดเกิดเหตุ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนานำรถยนต์คันดังกล่าว ซึ่งเป็นของที่ไม่ต้องเสียอากรขาออก ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะขายไม่ได้ จึงเป็นความผิดฐานพยายามนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้องอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 27 ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา 80
โจทก์มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดโดยเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ซึ่งความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตาม กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 27 ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา 83 จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้คำขอท้ายฟ้องระบุให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 27 ป.อ. มาตรา 80 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ยกคำขอให้จ่ายสินบนและรางวัล
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 โดยแยกการกระทำความผิดไว้หลายอย่างหลายชนิดเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกันเมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิด โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังฟ้อง เมื่อฟังพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยละเอียดของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนจากจังหวัดศรีสะเกษไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อพวกของจำเลยที่ 2 เพื่อให้นำรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 2ฎ – 1446 กรุงเทพมหานคร ไปขายที่ประเทศกัมพูชา พวกของจำเลยที่ 2 แจ้งว่ายังนำออกไปไม่ได้ จำเลยที่ 1 กับพวกได้รออยู่เป็นเวลา 2 วัน จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ได้รับการติดต่อจากผู้ที่จะนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปขายว่า ให้นำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปจอดไว้ที่หลังตลาดสดอรัญประเทศเพื่อจะนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปขายให้ แต่ต่อมาขายไม่ได้ผู้ขายจึงนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปคืนยังจุดเกิดเหตุ ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนานำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งเป็นของที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะขายไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้องอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
โจทก์มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดโดยเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้าและการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ซึ่งความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตาม กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้คำขอท้ายฟ้องระบุให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และ 83 จำคุกคนละ 2 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share