คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป้ายพิพาทเป็นป้ายที่จำเลยได้รับสิทธิติดตั้งโฆษณาในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตามสัญญา เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง ซึ่งจำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายพิพาทต่อโจทก์ตลอดมา แม้มีข้อตกลงตามสัญญาข้อ 3 ว่า ให้ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตลอดจนส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทันทีที่ก่อสร้างเสร็จ แต่ป้ายพิพาทที่จำเลยติดตั้งไว้นั้นไม่มีสภาพเป็นส่วนควบ และแม้จะมีข้อสัญญาระบุว่า ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันทีนั้น สิ่งก่อสร้างคือ ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางส่วนวัสดุก่อสร้างคือ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง แต่ป้ายโฆษณาเป็นสิ่งที่จำเลยนำมาติดตั้งเพื่อโฆษณา หาใช่วัสดุก่อสร้างไม่ จำเลยจึงยังคงเป็นเจ้าของป้ายดังกล่าว หาได้ตกเป็นของโจทก์ไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยในฐานะเจ้าของป้ายพิพาทย่อมมีหน้าที่ต้องรื้อถอนป้ายพิพาทออกไป แต่จำเลยละเว้นเสียยังคงติดตั้งป้ายโฆษณาของตนจนล่วงเข้าปี 2544 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายประจำปี 2544 ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มาตรา 7 เมื่อโจทก์แจ้งการประเมินภาษีป้ายให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นอันยุติ จำเลยจึงต้องเสียภาษีป้ายตามที่โจทก์ประเมินพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 25 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 310,500 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน ของภาษีป้ายที่ต้องชำระ 207,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถานโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้สิทธิดูแลรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางแก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2543 หลังจากนั้นโจทก์ได้ทำสัญญากับบริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 และบริษัทดังกล่าวได้เข้าหาผลประโยชน์ในป้ายที่ติดอยู่ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2544 ศาลภาษีอากรกลางงดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยเสียภาษีป้ายและเงินเพิ่ม 310,500 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 5 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย 207,000 บาท เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 โจทก์ทำสัญญาให้สิทธิจำเลยเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเขตพื้นที่กลุ่มบูรพาและเจ้าพระยารวม 250 หลัง ซึ่งสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ให้ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตลอดจนส่วนควบทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ และข้อ 5 ระบุว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการใช้สิทธิโฆษณาตามเนื้อที่ซึ่งจัดให้มีขึ้น ณ ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางแต่ละแห่งเพื่อประโยชน์ในทางการค้าแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 โจทก์ทำสัญญาให้สิทธิดังกล่าวแก่บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ประจำปี 2544 โจทก์ประเมินเรียกเก็บภาษีป้าย 207,000 บาท และแจ้งการประเมินแก่จำเลยแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมิน และไม่ชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินและมิได้รื้อถอนป้ายพิพาทออกจากศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยยังคงเป็นเจ้าของป้ายพิพาทผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายหรือไม่ เห็นว่า ป้ายพิพาทเป็นป้ายที่จำเลยได้รับสิทธิติดตั้งโฆษณาในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 นับแต่วันที่ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง ซึ่งจำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายพิพาทต่อโจทก์ตลอดมา แม้มีข้อตกลงตามสัญญาข้อ 3 ว่า ให้ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตลอดจนส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทันทีที่ก่อสร้างเสร็จก็ตาม แต่ป้ายพิพาทที่จำเลยติดตั้งไว้นั้นไม่มีสภาพเป็นส่วนควบและที่จำเลยอ้างว่า ตามสัญญาข้อ 15 (ข) ระบุว่า ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันที ป้ายโฆษณาพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์นั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวสิ่งก่อสร้างคือ ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางส่วนวัสดุก่อสร้างคือวัสดุที่ใช้ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง แต่ป้ายโฆษณาเป็นสิ่งที่จำเลยนำมาติดตั้งเพื่อโฆษณาหาใช่วัสดุก่อสร้างไม่ จำเลยยังคงเป็นเจ้าของป้ายดังกล่าว หาได้ตกเป็นของโจทก์ไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยในฐานะเจ้าของป้ายพิพาทย่อมมีหน้าที่ต้องรื้อถอนป้ายพิพาทออกไป แต่จำเลยละเว้นเสียยังคงติดตั้งป้ายโฆษณาของตนล่วงเข้าปี 2544 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายประจำปี 2544 ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 7 เมื่อโจทก์แจ้งการประเมินภาษีป้ายให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นอันยุติ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยเสียภาษีป้ายตามที่โจทก์ประเมินพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 25 (3) นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share