คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 61, 73 มิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้ แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่ง ป.อ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานจึงไม่ลดโทษให้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรี ซึ่งปฏิบัติราชการในหน้าที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาดังกล่าว และให้จำเลยทำงานบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเพราะรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางมิใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดโดยสภาพ และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 เป็นเพียงบทบัญญัติให้ลงโทษจำเลยมิได้มุ่งถึงตัวทรัพย์แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า คดีโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แม้พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 มิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้วินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและการริบเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเห็นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งโจทก์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและระบุบทกฎหมาย ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share