คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นว่า ม. ไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย ทั้งจำเลยยังให้การรับในคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานขายต้องควบคุมดูแลพนักงานขายในการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้ให้แก่จำเลย แต่กลับลาป่วยทั้งเดือนไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 21,846 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 48,213 บาท และค่าชดเชย 67,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 44,446 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 5,750 บาท ค่ารับรอง 1,000 บาท และค่าโทรศัพท์ 500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 67,800 บาท ค่าจ้างค้างชำระจำนวน 21,846 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายสินค้าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 44,446 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางจำนวน 5,750 บาท ค่ารับรองลูกค้าจำนวน 1,000 บาท และค่าโทรศัพท์จำนวน 500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับจ่ายค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายขายต่างจังหวัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายมานิต กำเหนิดงาม ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของจำเลยบอกแก่โจทก์ว่ามาทำงานทำไม เขาไม่ให้ทำงานแล้ว ถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากนายมานิตมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยและไม่ปรากฏว่านายมานิตได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทจำเลย นายมานิตจึงไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นที่นายมานิตไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังให้การรับในคำให้การข้อ 2 ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ลาป่วยอ้างว่าเป็นไข้หวัดในเดือนเมษายน 2546 ทั้งเดือน โดยลาต่อเนื่องกันถึง 8 ครั้ง บางครั้งนานนับสิบวัน เห็นว่า โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานขายต้องควบคุมดูแลพนักงานขายในการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้ให้แก่จำเลย แต่กลับลาป่วยทั้งเดือนโดยไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรณภาพในการทำงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรการมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share