แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้นได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 62,417.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่นายวรินทร์ เจริญพานิช ผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นของจำเลยอยู่จำนวน 9,994 หุ้น ค้างชำระค่าหุ้น หุ้นละ 50 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้นายวรินทร์ส่งมอบเงินค่าหุ้นให้แล้ว แต่นายวรินทร์ไม่ชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งมายังศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายวรินทร์มาสอบถามและส่งเงินค่าหุ้นตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัด ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องประกอบคำแถลงของโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขอให้อายัดเงินค่าหุ้นค้างชำระจากนายวรินทร์ เจริญพานิช ผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งหรือเรียกให้ส่งมอบสิ่งของนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 310 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและจำหน่ายไปตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้” เห็นว่า ตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า บริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นได้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ, 311 วรรคหนึ่งและวรรคสอง สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ เมื่อได้ความว่าบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้นายวรินทร์ เจริญพานิช ผู้ถือหุ้นชำระค้าหุ้นที่ค้างชำระจำนวน 9,994 หุ้น หุ้นละ 50 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้นได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 ถึง 1125 ขึ้นมาปรับแก่คดีนั้น เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ ยิ่งกว่านั้น มาตรา 311 วรรคสาม ยังบัญญัติว่า “คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขหรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายวรินทร์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แย้งอายัดให้นายวรินทร์ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ประกอบกับศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกนายวรินทร์มาสอบถามแล้วนายวรินทร์ก็ไม่มา กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของโจทก์ (ที่ถูกไม่ดำเนินการตามหนังสือของเจ้าพนักงานบังคดี) ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับไปยังนายวรินทร์ เจริญพานิช แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี