คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระยะเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนั้น เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิและไม่ใช่ขั้นตอนและวิธีการที่ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้แต่อย่างใด กรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะเสียสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง กล่าวคือผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนและสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับ แล้วแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงิน แต่บุคคลดังกล่าวไม่มาภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน ส่วนมาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปขอรับสิทธิแล้วแต่บุคคลดังกล่าวมิได้อยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น จึงมิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 ที่ รง 0623/38584 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 148/2547 กับให้จำเลยมีคำสั่งจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามกฎหมายให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 ที่ รง 0623/38584 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 148/2547 กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว” วรรคสอง “ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน” จะเห็นได้ว่าแม้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น แต่ก็มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนแล้ว จะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้น การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีจึงเป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ และไม่ใช่ขั้นตอนและวิธีการที่ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้แต่อย่างใด กรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะเสียสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง กล่าวคือ ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับ แล้วแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินดังกล่าว แต่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ ได้กำหนดทางแก้หากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ได้เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธินั้น เห็นว่า มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปดำเนินการขอรับสิทธิแล้ว แต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำเลยต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share