คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามา อันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลงศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยร่วมจะเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมายการถอนฟ้องจำเลยร่วมซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ของโจทก์จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 656,369 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 646,943 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวน จึงขอร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วม ต่อมาศาลช้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยร่วมต้องใช้สิทธิเท่าที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมเมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยร่วมย่อมยื่นคำให้การและนำสืบตามข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่จำเลยร่วมยื่นคำให้การและศาลมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมเป็นการสั่งโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำลยร่วม และมีคำสั่งใหม่ว่าไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
จำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีของจำเลยร่วมเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามาอันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลง ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยร่วมจะเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้ส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมาย การถอนฟ้องของโจทก์จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share