แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนที่จะมีการบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทกันหลายเรื่องได้มีการเจรจากันหลายครั้งก่อนหน้านี้ และโจทก์เป็นผู้คิดคำนวณเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากจำเลยเองโดยมีจำนวนเงินสูงกว่าสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับโดยรวมเงินค่าจ้างค้างและเงินค่าตำแหน่งไว้แล้ว และตามบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุว่าโจทก์พอใจในข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวโดยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใด ๆ อีกต่อไป เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างค้างชำระและเงินค่าตำแหน่งเพราะได้นำไปรวมไว้ในเงินช่วยเหลือตามบันทึกข้อตกลงแล้ว บันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทั้งสองจำนวนให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 4 ปี โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 130,000 บาท กับเงินค่าตำแหน่งอีก 30,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 160,000 บาท ระหว่างโจทก์เป็นอธิการบดีของจำเลย โจทก์มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้าแต่ขณะเดียวกันโจทก์มีความขัดแย้งและมีข้อพิพาทกับบุคลากรหลายฝ่ายรวมทั้งบุคคลในกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยจำเลย จนมีคดีฟ้องร้องกันหลายคดี ต่อมาก่อนที่โจทก์และจำเลยจะลงนามในบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 21 กันยายน 2544 ได้มีการเจรจากันระหว่างโจทก์กับฝ่ายจำเลย มีข้อตกลงที่จะเลิกสัญญาจ้างกันโดยจำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง ได้มีการคิดคำนวณจำนวนเงินช่วยเหลือซึ่งโจทก์เห็นว่าเหมาะสมและเห็นพ้องด้วย โจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาจ้างต่อกัน เพราะฝ่ายจำเลยต้องการยุติเรื่องวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงที่โจทก์เป็นอธิการบดี และโจทก์ก็ไม่ต้องการมีเรื่องยุ่งยากและไม่ประสงค์ทำงานต่อไป หากมีการสอบสวนเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ แล้วได้ความว่าโจทก์มีความผิด โจทก์จะไม่ได้รับเงินใด ๆ จากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ววินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างยอมจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินตอบแทนรายปีให้แก่โจทก์ และโจทก์พอใจไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป ดังนั้น บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะทำบันทึกตกลงเลิกสัญญาจ้างนั้น โจทก์มิได้มีข้อพิพาทใดกับจำเลย และการนำเงินค่าจ้างที่พิพาทในคดีนี้รวมเป็นเงินตามบันทึกตกลงเลิกสัญญาจ้างเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บันทึกตกลงเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างชำระระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2544 กับเงินค่าตำแหน่งจากจำเลย เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน” ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า ก่อนที่จะมีการทำบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทกันหลายเรื่อง ได้มีการเจรจากันหลายครั้งก่อนหน้านี้และโจทก์เป็นผู้คิดคำนวณเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากจำเลยเอง โดยมีจำนวนเงินสูงกว่าสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ โดยรวมเงินค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2544 และเงินค่าตำแหน่งไว้ด้วยแล้ว ทั้งตามข้อตกลงก็ได้บันทึกไว้ในสัญญาข้อ 3 ว่า โจทก์พอใจในข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใด ๆ อีกต่อไป เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างค้างชำระและเงินค่าตำแหน่งเพราะได้นำไปรวมไว้ในเงินช่วยเหลือตามบันทึกข้อตกลงแล้ว และกรณีมิใช่เรื่องหักเงินค่าจ้างค้างชำระเพื่อชำระหนี้อื่นของจำเลยดังที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระและเงินค่าตำแหน่งพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า บันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.