คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8191/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนถือว่าเป็นการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าจ้าง แต่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งสำเนาข้อเรียกร้องให้นายทะเบียนทราบ ไม่มีการระบุชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นผู้แทนในการเจรจาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่มีการแจ้งชื่อผู้แทนจำเลยในการเจรจาแก่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเมื่อตกลงกันได้ตามรายงานการประชุมก็ไม่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้แทนในการเจรจาทั้งสองฝ่ายแล้วประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน อันเป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 25, 26, 27 คงมีแต่รายงานการประชุมซึ่งลงชื่อผู้จดรายงานเพียงผู้เดียว การประชุมระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับจำเลยจึงเป็นเพียงการตกลงร่วมกันเพื่อให้จำเลยพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือน ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6, 28 เมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบด้วยในการปรับเพิ่มเงินเดือน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเห็นสมควรปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจ มาตรา 13 วรรคสาม
การพิจารณาว่ามติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยมีผลครอบคลุมถึงพนักงานกลุ่มใดต้องพิจารณาจากฐานการคิด เหตุผล และข้อมูลที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติโดยใช้ข้อมูลเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลยซึ่งอยู่ภายใต้หลักการที่จำเลยตกลงกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดซึ่งออกจากงานไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือนย่อมไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
การที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนถือเป็นการให้ความเห็นชอบในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 7134/2548 ของศาลแรงงานกลาง แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 386 ยุติไปแล้วตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสี่ร้อยหกสิบแปดสำนวนนี้ โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 469
โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือน เงินตอบแทน และเงินชดเชยส่วนที่เพิ่มขึ้นตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยจ่ายเงินให้พนักงาน (วันที่ 28 มิถุนายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานายยงยุทธโจทก์ที่ 107 ถึงแก่กรรม นางศรีพรรณ์ภริยาของโจทก์ที่ 107 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงมีหนังสือสอบถามไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ที่ถูกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) แจ้งให้ทราบถึงรายงานการประชุมของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ครั้งที่ 7/2547 ว่ารัฐวิสาหกิจที่มีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเองให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงจำเลยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือน จำเลยเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการของจำเลยว่าจำเลยมีมติปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานผู้ที่ยังมีสถานสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในวันที่ออกคำสั่งปรังเงินเดือนและให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 คณะกรรมการของจำเลยมีมติในการประชุมครั้งที่ 16/2547 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบตามที่จำเลยเสนอ จำเลยได้ดำเนินการต่อจนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรี จำเลยจึงมีคำสั่งให้พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนโดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 แล้ววินิจฉัยว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนเป็นการปรับให้แก่พนักงานที่ยังคงมีสภาพภาพเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดพ้นสภาพการเป็นพนักงานไปตั้งแต่ปี 2547 จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดว่า โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดมีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติของคณะรัฐมนตรี หรือไม่ เห็นว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยสืบเนื่องมาจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 ต่อมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประชุมร่วมกับหน่วยงานของฝ่ายจำเลยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 และมีการพิจารณาว่าจะปรับเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนหรือปรับให้แก่ผู้ที่มีสภาพการปฏิบัติงาน ณ วันที่ 1 เมษายน 2547 ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน จากนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยได้เสนอเรื่องไปยังผู้ว่าการของจำเลยเพื่อเสนอให้คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาโดยเสนอหลักการตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 กล่าวคือปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน และเสนอข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาคณะกรรมการของจำเลยอันประกอบด้วยตารางประมาณการค่าใช้จ่าย ตารางแสดงผลกระทบทางการเงิน ประมาณการผลการดำเนินงาน (งบการเงินก่อนและหลังปรับเงินเดือน) และประมาณการในการเพิ่มรายได้เสริมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นคณะกรรมการของจำเลยมีมติในการประชุมครั้งที่ 16/2547 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ระบุว่า “โดยหลักการเห็นชอบด้วย” ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบในหลักการที่จำเลยเสนอ อันรวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนด้วย การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนดังกล่าวถือว่าเป็นการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าจ้าง แต่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งสำเนาข้อเรียกร้องให้นายทะเบียนทราบ ไม่มีการระบุชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นผู้แทนในการเจรจาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่มีการแจ้งชื่อผู้แทนจำเลยในการเจรจาแก่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเมื่อตกลงกันได้ตามรายงานการประชุมก็ไม่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้แทนในการเจรจาทั้งสองฝ่ายแล้วประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน อันเป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 คงมีแต่รายงานการประชุมซึ่งลงชื่อผู้จดรายงานเพียงผู้เดียว การประชุมระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับจำเลยจึงเป็นเพียงการตกลงร่วมกันเพื่อให้จำเลยพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนโดยให้มีผลเป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 และมาตรา 28 เมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบด้วยในการปรับเพิ่มเงินเดือนจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเห็นสมควรปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 วรรคสาม
การพิจารณาว่ามติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยดังกล่าวมีผลครอบคลุมถึงพนักงานกลุ่มใดจึงต้องพิจารณาจากฐานการคิด เหตุผล และข้อมูลที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นและการที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานดังกล่าวนั้นเป็นการให้ความเห็นชอบในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 วรรคสาม กล่าวคือเป็นการให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ว่าให้จำเลยปรับเพิ่มค่าจ้างได้ในอัตราร้อยละ 15 หรือร้อยละ 8 ตามระดับของพนักงานโดยมีเงื่อนไขว่าให้ปรับเพิ่มค่าจ้างย้อนหลังไปได้ถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “สภาพการจ้าง” ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 อีกทั้งมาตรา 13 วรรคสาม ไม่ได้บัญญัติถึงว่าสภาพการจ้างที่ปรับปรุงแล้วนั้นมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างคนใด เมื่อโจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดออกจากงานไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ก็ย่อมไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือนจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนจะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนเก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share