คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ปรับ 1,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนในส่วนนี้มานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะคดีอาญาที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อลงโทษประหารชีวิตกระทงหนึ่งแล้ว ย่อมลงโทษปรับในความผิดกระทงอื่นอีกได้เนื่องจากเป็นโทษคนละสถานกัน และแยกบังคับโทษได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ศาลฎีกาก็ไม่อาจรวมโทษจำเลยใหม่ให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) และมาตรา 288, 80, 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) ฐานฆ่าผู้อื่นลงโทษประหารชีวิต ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง ยกเว้นรถกระบะ คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 60 และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 60 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นพิจารณาและคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ในการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบ มาตรา 52 (1) คงให้จำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบหรือกระทำโดยบันดาลโทสะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนางมาลีต่างยืนยันว่าจำเลยเข้ามายิงผู้เสียหายโดยไม่มีการโต้เถียงกัน ทั้งผู้เสียหายกับจำเลยต่างรู้จักสนิทสนมกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูผู้เสียหายตั้งแต่ผู้เสียหายมีอายุ 10 ปี ผู้เสียหายเคยเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารรถให้กับจำเลยและจำเลยสอนผู้เสียหายขับรถยนต์ ส่วนนางมาลีก็รู้จักกับจำเลยมาประมาณ 30 ปี และนับถือเป็นญาติกัน ผู้ตายซึ่งเป็นสามีของนางมาลีก็เคยเลี้ยงดูจำเลยมา แม้นางมาลีจะเป็นภริยาผู้ตายและผู้เสียหายเป็นบุตรผู้ตาย ก็ไม่ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยถึงขนาดจะต้องเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษหนักขึ้น จึงเชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนจำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่หน้าบ้านผู้ตายนั้น จำเลยและผู้เสียหายไม่ได้ทะเลาะโต้เถียงกันอีก ทั้งขณะถูกยิงผู้เสียหายนั่งหันหลังให้จำเลยไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะทำร้ายจำเลยแต่อย่างใด หากจำเลยและผู้เสียหายทะเลาะโต้เถียงกัน ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นชุมชนมีบ้านปลูกสร้างชิดกันหลายหลังจะต้องรู้เห็น โดยเฉพาะนางประนอม บานเย็น พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านเยื้องกับบ้านเกิดเหตุเล็กน้อย ก็ไม่ได้เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุมีการโต้เถียงหรือทำร้ายกันก่อนแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจะถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้าย จึงใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัวก็ขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ให้การเพิ่มเติมว่า ผู้เสียหายใช้อาวุธมีดแทงถูกจำเลยที่แขนซ้าย ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยไปที่บ้านผู้ตายแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทันทีโดยไม่มีการทะเลาะโต้เถียงหรือถูกผู้เสียหายทำร้าย เมื่อผู้เสียหายเซถลาเข้าไปในห้องโถงที่ผู้ตายนอนอยู่ จำเลยก็ตามเข้าไปในห้องโถงแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก เป็นเหตุให้กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้ตายและเด็กหญิงกชกรซึ่งนอนอยู่ข้างผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะดังที่จำเลยฎีกา จำเลยกับผู้เสียหายมีเรื่องวิวาทชกต่อยทำร้ายร่างกายกันที่คิวรถบางบ่อตั้งแต่เวลา 7.30 นาฬิกา แต่มีคนที่คิวรถเข้าห้ามปรามจำเลยและผู้เสียหายจึงแยกย้ายกันไป โดยผู้เสียหายกลับไปที่บ้านผู้ตาย ส่วนจำเลยกลับไปทำบาดแผลที่บ้านของตน เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายได้ยุติขาดตอนลงแล้ว ทั้งได้วินิจฉัยมาแล้วว่าไม่มีภัยที่จำเลยจะต้องป้องกันและไม่มีการข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะทำให้จำเลยบันดาลโทสะ ทั้งผู้เสียหายก็ได้กลับถึงบ้านพูดคุยกับผู้ตายและนางมาลีอีกประมาณครึ่งชั่วโมง การที่จำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางมาที่บ้านผู้ตายแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทันที และยังตามเข้าไปยิงผู้เสียหายในห้องโถงอีก โดยโจทก์มีนางประนอมและนางฮับ ศรีเกิด ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้บ้านที่เกิดเหตุต่างเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าหลังเกิดเหตุเห็นจำเลยถืออาวุธปืนวิ่งไปขึ้นรถยนต์ที่ติดเครื่องยนต์รออยู่ โดยขณะที่วิ่งไปขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวรถแล่นอยู่ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าก่อนยิงผู้เสียหายจำเลยได้คิดไตร่ตรองทบทวนมาแล้ว จึงตกลงใจกระทำความผิดโดยมีการเตรียมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและยานพาหนะที่จะใช้ในการกระทำครั้งนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่าขณะจำเลยตามผู้เสียหายเข้าไปในห้องโถงและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้น ผู้ตายได้เข้ามาขวางเป็นเหตุให้กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้จำเลยจะมีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเฉพาะผู้เสียหาย แต่เมื่อผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นแก่ผู้ตายโดยพลาดไป ก็ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 บัญญัติไว้ด้วย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 289 (4) ประกอบด้วยมาตรา 60 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ปรับ 1,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนในส่วนนี้มานั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะคดีอาญาที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อลงโทษประหารชีวิตกระทงหนึ่งแล้ว ย่อมลงโทษปรับในความผิดกระทงอื่นอีกได้ เนื่องจากเป็นโทษคนละสถานกัน และแยกบังคับโทษได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรวมโทษจำเลยใหม่ให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share