คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล… ไม่ว่าจะเสนอในภายหลัง… โดยสอดเข้ามาในคดี ฯลฯ นั้น เป็นการกำหนดให้คำร้องสอดที่มีลักษณะในการเสนอข้อหาต่อศาลเป็นคำฟ้องด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดให้คำร้องสอดทุกฉบับเป็นคำฟ้อง เนื่องจากการร้องสอดเข้ามาในคดีบางกรณีเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีในฐานะจำเลย คำร้องสอดกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่คำร้องสอดจะเป็นคำฟ้องหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำร้องสอดเป็นสำคัญ
ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องสอดเปลี่ยนเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ผู้ร้องสอดจึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่โดยผลของคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนี้ คำร้องสอดดังกล่าวเป็นการขอเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลย ข้ออ้างสิทธิตามคำร้องสอดจึงถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่การเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อบังคับโจทก์ จึงไม่เป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่จำต้องมีคำขอบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3)
ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคำร้องสอด ทั้งผู้ร้องสอดอาจยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา ได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในโอกาสดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2479 หลวงสิทธิเทพการได้ยกที่ดินมือเปล่าให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้ให้นายวิศิษฏ์ วังตาล ไปแจ้งสิทธิครอบครอง (ส.ค.1) และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) รวม 10 แปลง ใสชื่อนายวิศิษฏ์เป็นผู้มีชื่อแทนโจทก์ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 319 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโจทก์ดังกล่าว เมื่อปี 2524 จำเลยเช่าบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 319 ดังกล่าว เนื้อที่ 5 ไร่เศษ อัตราค่าเช่าไร่ละ 500 บาท ต่อปี เพื่อทำการเกษตรกรรม ต่อมาปี 2539 จำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้เรียกจำเลยมาทำการตกลงเรื่องค่าเช่าและชำระค่าเช่า ต่อมาคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลดอนกระเบื้องมีมติให้ผู้ใช้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่ากับผู้เช่าได้ โจทก์จึงบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์สามารถนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท ขอให้บังคับจำเลยพร้อมกับบริวารขนย้ายสัมภาระสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 319 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องหมายสีแดง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไร่ละ 500 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความพร้อมยื่นคำให้การและแก้ไขคำร้องกับคำให้การว่า ผู้ร้องสอดแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์มาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครองครอง โจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลจึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้บอกเลิกการเช่านากับผู้ร้องสอดตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์จำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่า จำเลยเป็นเพียงบริวารของผู้ร้องสอด จำเลยมิได้อาศัยอยู่บนที่ดินที่เช่า เพียงแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทเท่านั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่ออกไปจากที่ดินพิพาทโดยผลของคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องสอดพร้อมคำให้การและแก้ไขคำร้องสอดและคำให้การของผู้ร้องสอด
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องของผู้ร้องสอดว่า คำร้องของผู้ร้องสอดที่อ้างว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาท จำเลยเป็นเพียงบริวารของผู้ร้องสอด และอ้างว่าจำเลยมิได้อาศัยอยู่บนที่ดินที่เช่าเพียงแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่พิพาทเท่านั้นทำให้โจทก์ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้ จึงเป็นคำร้องเคลือบคลุมการโต้แย้งการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินของผู้ร้องสอดกับพวกเมื่อปี 2539 เป็นคำคัดค้านที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เป็นการคัดค้านในฐานะผู้เป็นเจ้าของ โจทก์เพียงแต่เข้าใจว่าเป็นการคัดค้านเพื่อไม่ให้โจทก์นำที่ดินไปขายให้บุคคลอื่น ทำให้โจทก์ไม่อาจทราบถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้คัดค้านได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบริเวณหมายสีแดงตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.14 เนื้อที่ 5 ไร่เศษ อันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 319 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องสอด คืนค่าขึ้นศาลแก่ผู้ร้องสอด ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 319 ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องหมายสีแดง พร้อมขนย้ายสัมภาระสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่จะวินิจฉัยเป็นข้อแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้องสอดถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ที่บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล…ไม่ว่าจะเสนอในภายหลัง… โดยสอดเข้ามาในคดี ฯลฯ นั้น เป็นการกำหนดให้คำร้องสอดที่มีลักษณะในการเสนอข้อหาต่อศาลเป็นคำฟ้องด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดให้คำร้องสอดทุกฉบับเป็นคำฟ้องแต่อย่างใด เนื่องจากการร้องสอดเข้ามาในคดีบางกรณีเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีในฐานะจำเลย คำร้องสอดกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่คำร้องสอดจะเป็นคำฟ้องหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำร้องสอดฉบับนั้นเป็นสำคัญ ตามคำร้องสอดและคำร้องขอแก้ไขคำร้องสอดคดีนี้อ้างว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องสอดเปลี่ยนเจตนาจากผู้เช่า แสดงเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ผู้ร้องสอดจึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทโดยผลขอคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ดังนี้ คำร้องสอดดังกล่าวเป็นการขอเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลย ข้ออ้างสิทธิตามคำร้องสอดจึงถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่การเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อบังคับโจทก์ คำร้องสอดคดีนี้จึงไม่เป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่จำต้องมีคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3) ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย อย่างไรก็ดี ในโอกาสที่ยื่นคำร้องสอดดังกล่าว ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคำร้องสอด ทั้งกรณีเช่นนี้ผู้ร้องสอดอาจยื่นคำร้องเช่นนี้ได้อยู่แล้ว ในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา ดังนั้น การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในโอกาสดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่แต่อย่างใด ผู้ร้องสอดไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้องสอดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องสอด
อนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องสอดเฉพาะปัญหาว่าผู้ร้องสอดขอเข้ามาในคดีได้โดยชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของผู้ร้องสอด กรณีต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ผู้ร้องสอดได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามารวมเป็นเงิน 50,000 บาท จึงเป็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องสอด”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียนชั้นฎีการะหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์ให้เป็นพับ

Share